ก่อนอื่นไม่ว่าสิ่งที่ลูกทำจะเพิ่มระดับความปรี๊ดให้คุณมากแค่ไหน แต่ต้องยับยั้งใจสยบอารมณ์โกรธของตัวเองให้ได้ก่อน หายใจเข้า-ออกลึก ท่องพุทโธ พุทโธ อย่าหลุดเหตุผลนานัปการมาพร่ำบ่นให้เจ้าตัวเล็กสำนึกผิดเด็ดขาด ควรหันมาบอกให้ลูกพูดคำสั้นๆอย่าง “หนูขอโทษ” “ผมผิดเอง” หรือ “ผมไม่ได้ตั้งใจ” ดีกว่า
คำพูดสื่อความรู้สึกขอโทษจะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการขอโทษคือสิ่งที่สำคัญ และเมื่อลูกยอมพูดตามแล้ว ค่อยให้เขาทวนการกระทำที่ไม่ถูกต้องลงไปในคำขอโทษด้วย เช่น “ผมขอโทษที่โยนมันลงพื้น” เพื่อให้ลูกเข้าใจและยอมรับมากขึ้นว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่สมควร
อย่างไรเสีย อีกไม่นานคำขอโทษจากปากเขาก็คงตามมา เพียงแต่คุณเองก็ต้องเป็นตัวอย่าง “ที่ดี” ถ้าลูกได้เห็นคุณขอโทษกับสิ่งต่างๆ หรือ คนอื่นๆ รอบตัวเวลาทำผิด รวมถึงแนะนำลูกว่าอานุภาพของการขอโทษช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวด และรักษาสัมพันธภาพที่ดีของลูกและคนรอบข้างที่เขารักได้อย่างไร ความน่ารักก็คงเกิดกับเด็กๆ ไม่ยากค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
เรียบเรียง: กองบรรณาธิการเว็บไซต์