วิธีสังเกตหลัง ลูกล้มหัวฟาดพื้น
การที่ ลูกล้มหัวฟาดพื้น เป็นเรื่องที่พบบ่อยในเด็กวัย 2-3 ขวบ เพราะเป็นวัยกำลังซน กล้ามเนื้อกำลังพัฒนา วิ่งเล่นได้ทั้งวัน แต่ขาดความระมัดระวัง และไม่ค่อยฟังคำห้ามปรามของผู้ใหญ่ จึงมักจะทำให้เกิดการบาดเจ็บอยู่เป็นประจำ แต่ส่วนใหญ่มักจะบาดเจ็บแค่เพียงเล็กน้อย คือร้องไห้แล้วเล่นต่อได้อีก เด็กบางคนอาจจะอาเจียนประมาณ 1 ครั้ง เพราะร้องไห้หนักมาก เนื่องจากหัวโน หรือมีแผลเลือดออก แต่ไม่กระทบกระเทือนทางสมอง ต้องการแค่คำปลอบโยน ประคบเย็น หรือทำแผล ก็จะดีขึ้น
แต่ถ้าลูกมีอาการ หมดสติ เรียกไม่รู้ตัว ชัก รูม่านตาขยายไม่เท่ากัน พูดไม่ชัด เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียนมากกว่า 1-2 ครั้ง มีน้ำ หรือเลือกออกทางหู หรือจมูก กะโหลกยุบ ก็แสดงว่ามีความผิดปกติ อาจมีภาวะเลือดคั่งในสมอง หรือสมองบวม คุณพ่อ คุณแม่ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ส่งเอ็กซเรย์สมอง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
เด็กบางคนอาจจะไม่มีอาการผิดปกติที่ชัดเจน เพราะอาจมีเลือดคั่งในสมองแบบช้าๆ มีการบ่นว่าปวดศีรษะ แต่ไม่หายปวดสักที อาการไม่ดีขึ้นแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม ในเด็กเล็กอาจจะแสดงออกโดยการร้องกวน เอามือจับศีรษะ ไม่ค่อยเล่น ดูง่วงซึม นอนมากผิดปกติ หรือลุกลี้ลุกลนผิดปกติ
คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รีบพาลูกน้อยไปรักษานะคะ
เครดิต: Cartoon’z Suchada