ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจที่มา ปัญหาก็จะเบาลงไปเยอะ ถ้าไม่เชื่อ ลองใช้เทคนิคถอดความหมายในใจเด็กที่ ดร.จอร์ช สการ์เล็ต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการเด็ก จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ แนะนำให้เราดูสิ
ถ้าเด็กๆ พูดว่า…“น้องไฮน์ไม่ยอมแบ่งหนูอะ!”
หมายถึง : “ช่วยหนูหน่อย” พี่ๆ กำลังต้องการให้คุณช่วยไกล่เกลี่ยศึกของเล่นที่กำลังร้อนระอุ ลึกๆ แล้วเขาอาจกลัวว่า ถ้าพี่น้องทะเลาะกันเมื่อไร ผู้ใหญ่จะเข้าข้างคนอายุน้อยกว่า เลยชิงตั้งตัวเป็นผู้เสียหายเสียก่อน
ทางรับมือ : “เอาละ เรามาช่วยกันสอนน้องไฮน์ให้รู้จักแบ่งของเล่นกันดีกว่า หนูว่า เราควรทำอย่างไรดีจ๊ะ ชวนน้องเล่นอย่างอื่นกันดีไหม” แทนที่จะตัดสินถูกผิด หรือหยิบของเล่นชิ้นนั้นออกไปจากวง ลองชวนพี่โตมาช่วยคิดหาทางแก้ปัญหา คุณจะได้ไม่ต้องตั้งตัวเป็นผู้พิพากษา (ผู้ทำใจลำบาก) เสียทุกครั้ง
ถ้าเด็กๆ พูดว่า…“ผมเห็นแซมขโมยคุกกี้ในกล่องฮะ!”
หมายถึง : “เห็นไหม ผมรู้กฎของบ้านนะ” ลูกเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเขาพยายามแสดงความรู้ผิดชอบให้คุณเห็น
ทางรับมือ : “เก่งมากจ้ะ เด็กๆ ต้องไม่กินขนมก่อนข้าวเย็น ถ้าคราวหน้าหนูเห็นแซมแอบหยิบคุกกี้อีก หนูต้องเตือนน้องด้วยนะ” ทีนี้คุณก็จะได้ผู้ช่วยผู้คุมกฎคนใหม่ แน่ละ น้องๆ ของพ่อหนูคงไม่ชอบใจ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นกติกาที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม
ถ้าเด็กๆ พูดว่า…“แม่! เบบี๋แหวะเลอะเทอะอีกแล้ว!”
หมายถึง : “หนูอิจฉานะ!” พี่ๆ ทั้งหลายอาจกำลังรู้สึกว่าพวกเขาถูกเมิน และอยากเรียกร้องความสนใจสักหน่อย
ทางรับมือ : “ขอบใจจ้ะ ดีจังที่หนูรีบบอกแม่ ไม่งั้นน้องต้องแหวะเลอะที่นอนแน่ๆ หนูเป็นพี่สาวที่ดีจริงๆ อดทนหน่อยนะ พอเบบี๋โต น้องก็จะไม่แหวะเลอะเทอะแล้วละ”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง