เด็กแบบไหนที่เนิร์สเซอรี่ต้องการ - Amarin Baby & Kids

เด็กแบบไหนที่เนิร์สเซอรี่ต้องการ

Alternative Textaccount_circle
event

โรงเรียนใกล้จะเปิดเทอมแล้วเหลือแต่ลูกเราน่ะสิพร้อมหรือยัง ต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ช่วยคุณแม่ดูความพร้อมของลูก

 
– ลูกนั่งกระโถนเป็นหรือยัง เพราะบางโรงเรียนไม่ได้มีแผนกเด็กเล็กที่พร้อมจะสอนเด็กนั่งกระโถน ควรฝึกลูกนั่งกระโถนให้เป็นก่อนพาเข้าเนิร์สเซอรี่ อย่างน้อยเขาต้องบอกผู้ใหญ่ได้เมื่อรู้สึกปวดหนักหรือเบา ลูกแยกจากแม่ได้ไหม ถ้าคุณต้องทำงานแล้วปล่อยให้ลูกอยู่บ้านกับญาติหรือพี่เลี้ยงจนชิน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณอยู่กับลูกตลอดทั้งวันตั้งแต่เขาเกิด ให้ลองออกไปทำธุระ ปล่อยให้ลูกอยู่ห่างตัวเสียบ้าง เป็นการฝึกเขาให้ห่างแม่ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ เนิร์สเซอรี่มักจะอนุญาตให้คุณพาลูกกลับก่อนเวลาปกติได้ จนกว่าลูกจะชิน ถ้าไม่อยากให้ลูกร้องโยเยตอนไปเรียนก็หัดแยกลูกห่างตัวเสียบ้าง

 
– ลูกสอนได้หรือเปล่า เนิร์สเซอรี่จะไม่ได้เน้นการสอนเหมือนโรงเรียนอนุบาล แต่เด็กก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำตามกฎบางอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น มีเวลาเล่นที่จำกัด ต้องแขวนกระเป๋าให้ถูกที่ ถ้ากลัวว่ามันจะยากเกินไปสำหรับลูก ลองเริ่มสอนให้เขารู้จักรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ในเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันก่อน เช่น สอนให้ลูกวางรองเท้าให้เป็นระเบียบก่อนเข้าบ้าน หรือกินข้าวแล้วเอาจานไปเก็บที่อ่างก็ได้

 
– ลูกเข้ากับเด็กคนอื่นได้ไหม ถ้าลูกคุ้นกับการอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ รู้จักมีน้ำใจ แบ่งปันให้กับผู้อื่น และไม่เห็นแก่ตัว นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกพร้อมแล้ว แต่ถ้ายังไม่เป็นเช่นนั้น ลองปล่อยให้เขาเล่นในสนามเด็กเล่นดูสิ นั่นเป็นการฝึกฝนให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันได้ดีเชียวละ

 
– ลูกยอมรับตารางกิจกรรมได้ไหม กิจกรรมต่างๆ ที่เนิร์สเซอรี่จัดไว้จะมีหลายอย่างต่อๆ กัน ลองสังเกตดูว่าลูกมีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาต้องหยุดสิ่งที่ทำอยูˆเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ เช่น ลูกรู้สึกโกรธหัวเสียหรือเปล่า เวลาที่บอกให้เลิกเล่นตุ๊กตาแล้วไปเข้านอน ลองฝึกให้ลูกรู้จักการยอมรับกิจกรรมที่ต้องเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ อาทิบอกลูกไว้เลยว่าหลังจากเล่นตุ๊กตาแล้วต้องเข้านอนนะ

 
ลองดูว่าส่วนใหญ่แล้วลูกเราทำได้หรือไม่ (ทำไม่ได้ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่เป็นไร) หากกังวลว่าลูกยังไม่พร้อม จะดีกว่าถ้าเลื่อนให้ลูกไปเรียนเทอมหน้าหรือปีหน้า แทนที่จะบังคับให้เขาไปเรียนอย่างไม่มีความสุขและเป็นภาระของโรงเรียนในภายหลัง

 

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up