รับมือลูกวัยเตาะแตะจอมเหวี่ยงแบบวิน-วิน!

รับมือแบบวิน-วิน เตาะแตะหัวฟัดหัวเหวี่ยง

Alternative Textaccount_circle
event

โกรธเกรี้ยวแยกประเภทได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมต่างเห็นพ้องว่า การหัวฟัดหัวเหวี่ยงร้องงอแงของเด็กแบ่งออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ มาดูกันว่าลูกของคุณกำลังงอแงแบบไหน

1. เหวี่ยงจริงจังเพราะต้องการให้ได้

สถานการณ์ : ความรู้สึกต้องการอะไรบางอย่างแบบจริงจัง อย่างเช่น กินอาหารหรือขนม มักจะเกิดขึ้นในครัว หรือในซุปเปอร์มาร์เก็ต

ขณะที่ลูกกำลังตื่นตากับสิ่งเร้าภายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ความสนใจของแม่ก็จดจ่ออยู่ที่การจับจ่าย (และอาจจะทักทายคนที่รู้จัก) คุณหมอโกลด์อธิบายว่า “ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือในครัวจัดเป็นสถานที่ที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกเครียดได้ ถ้าเราคิดว่าการงอแงของลูกคือความเครียด ไม่ใช่การทำตัวงี่เง่า ก็จะทำให้รู้สึกเห็นใจลูกมากขึ้น”

รับมือแบบวิน-วิน

ให้เก็บของที่ล่อตา ยั่วกิเลสลูกภายในบ้านให้เรียบร้อย ก่อนที่จะออกไปซื้อของ หรือออกนอกบ้านกับลูก ให้ลูกกินอิ่มและนอนเต็มตื่น พกของเล่นหรือหนังสือไปสร้างความเพลิดเพลินให้กับลูก และให้ลูกได้มีส่วนร่วม เช่น ช่วยเลือกของบ้าง การงอแงมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กถูกปฏิเสธ

คุณหมออลัน กรีน กุมารแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และคุณพ่อลูกสี่ แนะนำว่า “ให้พกกระดาษกับดินสอติดตัวไปด้วย เวลาที่ลูกร้องขออะไร ให้ลูกจดใส่กระดาษ เมื่อจะกลับบ้าน ให้ลูกเลือกสิ่งที่ลูกอยากได้หนึ่งหรือสองอย่างในรายการ หรือพ่อแม่เป็นคนเลือกสิ่งที่ลูกอยากได้ 1-2 อย่างจากรายการที่ลูกจด”

การเขียนรายการของเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูก ทำให้ลูกรู้สึกมีส่วนร่วม โดยมีรางวัลตามต้องการรออยู่เป็นของหวานปิดท้ายรายการในวันนั้น

2. เหวี่ยงเรียกร้องความสนใจ

สถานการณ์ : แม่กำลังยุ่งอยู่ งั้นปล่อยของตอนนี้ซะเลย เช่น ตอนที่ลูกก็เล่นของลูกอยู่ดีๆ แต่พอแม่พูดโทรศัพท์กับใครเมื่อไร เป็นได้เรื่องขึ้นมาทุกที

รับมือแบบวิน-วิน

ควรจะบอกกล่าวให้ลูกรู้ตัวก่อนเนิ่นๆ เช่น “แม่จะพูดโทรศัพท์นะลูก ไปเล่นคนเดียวในห้องก่อนนะ แล้วเดี๋ยวเรามาระบายสีกัน” หรือให้มีของเล่นบางอย่างโผล่ออกมาให้ลูกเล่นเฉพาะในเวลาที่แม่กำลังคุยโทรศัพท์ในเรื่องธุระสำคัญ เช่น คุยกับธนาคาร หรือราชการ ก็อาจจะให้ลูกนั่งดูการ์ตูนหน้าจอสักครู่ ซึ่งเด็กทั่วไปมักจะเพลินๆ ไปได้

บางครั้ง การงอแงอาจจะจบลงอย่างเร็วขึ้นได้ด้วยการใช้คำสั่งสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย และเรียกความสนใจเด็กวัยเตาะแตะได้อย่างรวดเร็ว คุณหมอโพเทกัล อธิบายว่า “คำพูดที่ยิ่งเจาะจง จะยิ่งได้ผล เช่น “อย่าตีหมาสิลูก” หรือเบนความสนใจด้วยคำชวนสั้นๆ เช่น “ระบายสีกันลูก” หรือจะชวนย้ายทำเล เปลี่ยนฮวงจุ้ยไปเลยก็ได้ เช่น “ไปหน้าบ้านกันดีกว่า ได้เวลารดน้ำต้นไม้กันแล้ว”

3. เหวี่ยงลองของ ประลองกำลัง

สถานการณ์ : ไม่ยอมนอน หรือเล่นไม่ยอมเลิก เป็นวิธีแผลงฤทธิ์ลองของแบบหนึ่งของเด็กๆ

รับมือแบบวิน-วิน

ความเหนื่อยมักทำให้พ่อแม่หยวนลูกได้ง่ายขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ย้ำว่า การยอมในเวลาที่ลูกแผลงฤทธิ์จะเป็นการสอนให้ลูกรู้ว่า การงอแงนั้นได้ผล วิธีที่ได้ผลดีทั้งลูกและคุณคือ การให้เลือก เช่น ไม่ยอมแปรงฟัน สระผม ให้ถามลูกว่า เขาจะทำอะไรก่อนดี แปรงฟัน หรือสระผม

เด็กๆ ไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรจะบอกให้ลูกรู้ตัวไว้ก่อนเนิ่นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เช่น ลูกเล่นกับเพื่อนอยู่ ก่อนถึงเวลากลับบ้าน ก็บอกให้ลูกรู้ตัวก่อน “ขี่จักรยานอีกสองรอบแล้วเรากลับบ้านกันนะลูก” และขอให้หลีกเลี่ยงการบอกอะไรที่เด็กวัยเตาะแตะยังไม่เข้าใจดี เช่น “ขี่จักรยานอีกห้านาทีแล้วกลับบ้านกันนะลูก” เพราะเด็กวัยเตาะแตะยังไม่รู้จักเวลา และจะรู้สึกว่าถูกมัดมือชกเวลาที่แม่บอกว่าหมดเวลาแล้ว

คุณหมอโพเทกัลเสนอแนะอีกวิธีที่ใช้ได้ผล หลังจากใช้วิธีข้างต้นแล้ว เขายังอยากยียวน ชวนประลองกำลังอยู่ ให้คุณบอกลูกว่า ถ้าไม่ทำตามที่แม่บอก แม่จะจับมือเขาทำสิ่งนั้น เช่น “เวลาสวมกางเกงนอน ถ้าแม่นับถึงสาม แล้วยังไม่เสร็จ แม่จะจับมือลูกให้สวมให้เรียบร้อย” เด็กๆ ไม่ชอบวิธีนี้ เพราะรู้สึกถูกควบคุม เขารีบทำเองให้เรียบร้อยดีกว่า

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up