ปวดหัวกับลูก เหวี่ยงทีไรไม่กัด ก็ตี ทุกที

Alternative Textaccount_circle
event

Q. ลูกอายุเกือบ 2 ขวบค่ะ ช่วงนี้เวลาเขาอารมณ์ไม่ดีจะกัด ตีแม่บ้าง คนในบ้านบ้าง ตีเพื่อนที่เล่นด้วยก็มีค่ะ ขว้างของ ร้องงอแงโวยวาย บางทีก็ห้ามไม่ทัน ดุหรือเตือนก็ไม่ค่อยได้ผล ตอนเล็กๆ ไม่เป็น จะทำอย่างไรได้บ้างคะ

 

 

 
ผู้ใหญ่มองพฤติกรรม กัด ตี ข่วน ขว้างปาสิ่งของหรือร้องโวยวาย เป็นพฤติกรรมไม่ดี ไม่น่ารัก ไม่อยากให้ลูกหลานของเราทำ แต่ทั้งหมดเป็นการแสดงออกของวัยเตาะแตะเวลาที่เขาหงุดหงิดค่ะ

 
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการอธิบายว่า สำหรับเด็กวัยเตาะแตะแล้ว โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากมายอยู่รอบตัวเขา เขาอยากรู้อยากเห็น อยากทำนั่นทำนี่ไปหมด เพราะเขาเดินได้ วิ่งได้แล้วนี่ แต่แน่นอน เขาไม่สามารถไล่ตามทุกอย่างได้ทัน และทักษะการพูดของเขาก็ยังไม่ดีนัก ยังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ด้วยการพูดหรือบอกได้ทั้งหมด

 
ที่สำคัญเด็กในวัย 1-3 ขวบ ยังไม่เข้าใจเรื่องของเหตุและผล นี่คือสาเหตุว่าเพราะอะไรการอธิบาย ดุ เตือนหรือแม้แต่ตีเมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่น่ารักทั้งหลาย หลายรอบแล้ว เขาก็ยังทำอีก

 
นอกจากนี้วัยเตาะแตะยังไม่รู้จักอารมณ์ต่างๆ อีกทั้งไม่มีทักษะหรือวิธีที่จะรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งดีและไม่ดีที่เข้ามาหาเขามากเกินไป ดังนั้นเมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดีหรือไม่พอใจขึ้น พฤติกรรมไม่น่ารักทั้งหลายของเด็กวัยนี้จึงเป็นความพยายามที่จะบอกความรู้สึกของเขาให้พ่อแม่รู้ หรือเป็นการแสดงความโกรธของเขานั่นเอง

 
อย่างไรก็ดี การปล่อยให้ลูกน้อยมีพฤติกรรมแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องดี มาดูกันว่าคุณจะทำอะไรได้บ้าง

 

 

 
1. ตั้งรับอย่างสงบ ขณะที่เห็นลูกกัด หรือออกอาการใดๆ ให้พูดกับลูกด้วยท่าทีสงบ และน้ำเสียงหนักแน่น “ไม่กัด (ตี ข่วน ขว้างปา โวยวาย) ลูก กัดทำให้เจ็บ แม่เจ็บนะ”

 
2. ระวัง! เข้าใจผิดถ้าหวังว่าการกัดตอบหรือตีตอบเขา จะทำให้ลูกรู้ว่าเจ็บอย่างไร คราวหน้าเขาจะได้ไม่ทำอีก ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า จะไม่ได้ผลอย่างนั้น แต่จะกลายเป็นว่าคุณโต้ตอบความก้าวร้าวด้วยความก้าวร้าว

 
3.สอนให้รู้จักอารมณ์ ลดความหงุดหงิด “ลูกโกรธเนอะ ลูกอยากเล่นกับใบหม่อน (หรือแม่) แต่ใบหม่อน (หรือแม่) ไม่ได้ยิน …เอาใหม่ เรามาขอโทษพร้อมๆ กันนะ แล้วมาเล่นกันต่อ จะเล่นอะไรดี รถไฟหรือทำกับข้าว”

 
4. ไวต่อสัญญาณก่อนเหตุล่วงเลย เด็กวัยเตาะแตะส่วนใหญ่จะหงุดหงิด หัวเสีย โมโห เพราะมีสิ่งกระตุ้น ได้แก่ เวลาเหนื่อย หิว ร้อน เจ็บ ได้รับการกระตุ้นมากเกินไป หรืออยู่ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย

 
หากคุณสังเกตสัญญาณเหล่านี้ได้ก่อน ทำอะไรบางอย่างได้ทันในสถานการณ์นั้นได้ เช่น หาทางลดสิ่งกระตุ้น หรือพาลูกออกมาจากสิ่งกระตุ้น เพื่อให้เขาได้สงบอารมณ์ ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่งทีเดียว

 
แม้คุณจะสังเกตสัญญาณบอกเหตุไม่ทัน แต่ความอดทนและใจเย็นพอที่จะรับมือ คุณก็ช่วยลูกน้อยให้เขาได้ค่อยๆ เรียนรู้การแสดงอารมณ์ด้วยวิธีที่รุนแรงน้อยลง

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียล พาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up