ขวบกว่าๆ เบบี๋มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

Alternative Textaccount_circle
event

หนูน้อยเริ่มหัด “เดิน”

เด็กส่วนใหญ่จะเดินหรือหัดเดินในช่วงนี้ แต่บางคนก็อาจชอบเกาะเดินมากกว่าและจะไม่เดินจนกว่าจะอายุ 1 ขวบ 6 เดือนหรือช้ากว่านั้นอีก เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแต่ละอย่างเร็วช้าต่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณกังวล จะขอให้แพทย์ช่วยประเมินก็ได้ จะได้รู้ว่าลูกมีทักษะการเคลื่อนไหวในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ และมั่นใจเถอะว่าไม่ช้าคุณจะได้เห็นก้าวแรกของลูก

รูปร่างและการกินที่เปลี่ยนไป

นอกจากจะซนขึ้นแล้ว เด็กๆ ยังรูปร่างเปลี่ยนไปด้วย เพราะสูญเสียไขมันบางส่วน แขนขาจึงไม่อ้วนกลมน่าฟัดเหมือนเคย และเพราะบางมื้อเขาอาจกินเก่ง แต่บางมื้อก็ไม่สนใจกิน น้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงมาก

หากมื้อไหนลูกสนใจการกิน ให้ลองหาช้อนส้อมให้เขาถือ จะช่วยฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการช่วยเหลือตัวเองได้ดี เดี๋ยวนี้มีส้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กวัยเตาะแตะแล้ว ลองซื้อมาให้ลูกใช้จิ้มอาหารกินดูนะคะ

เรื่องปกติของเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • ความสนใจเรื่องกิน บางมื้อจะไม่ค่อยสนใจกิน แต่บางมื้อก็กินเก่ง
  • การโยนช้อนหรือส้อมทิ้ง ถือเป็นพัฒนาการตามปกติ เพราะเขาอยากรู้ว่าถ้าโยนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือหงุดหงิดจนคิดว่าใช้นิ้วหยิบตามเดิมดีกว่า
  • ความเลอะเทอะ แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองหงุดหงิดรำคาญใจ ผ้ากันเปื้อนและแผ่นรองเศษอาหารเป็นตัวช่วยคุณได้ และถ้าคุณจะพาลูกไปกินอาหารนอกบ้านด้วยกัน ร้านที่ใช้ผ้าปูโต๊ะสีขาวคงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีแน่ๆ

ทักษะด้านการสื่อภาษา

เด็กส่วนใหญ่ยังรู้จักคำไม่มากนัก และคำแรกที่พูดได้ (นอกจากแม่กับพ่อ) ก็มักจะเป็นสิ่งที่เขาสนใจ อย่างรถ เป็ด นก แมว หมา ฯลฯ การพูดทวนคำที่เขาสนใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยฝึกให้เขาพูดเก่งขึ้นและทำให้เขารู้สึกภูมิใจที่พูดได้

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังคือวิธีที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้ดีที่สุด และการเลือกหนังสือโดยดูจากสิ่งที่ลูกสนใจอย่างพาหนะที่ใช้ในงานก่อสร้างหรือสัตว์ต่างถิ่นในสวนสัตว์จะยิ่งส่งเสริมความอยากรู้ อยากฟัง ลูกจะซึมซับคำใหม่ๆ และสนุกกับการฝึกพูดคำใหม่ๆ เขายังอาจจะขอให้คุณอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะจำขึ้นใจกันทั้งคู่ด้วย

ทักษะด้านการรับรู้และเข้าใจภาษา

ไม่ว่าจะรู้จักคำมากน้อยแค่ไหน เด็กๆ วัยนี้ก็มีทักษะด้านการรับรู้และเข้าใจภาษาที่น่าทึ่งมาก เรื่องสนุกอย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้คือการช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาทำได้ไม่ยาก เช่น ถ้าเขาอยากให้อ่านหนังสือให้ฟัง คุณควรขอให้เขาช่วยไปเลือกและหยิบมาให้ หรือให้เขาช่วยเก็บของหล่นที่หยิบได้ง่าย เพราะพอได้เห็นรอยยิ้มของคุณและได้ยินคุณพูดว่า “ขอบใจจ้ะ” เขาจะภูมิใจมากที่สามารถช่วยงานได้ การมีประสบการณ์ในทำนองนี้ร่วมกับคนสำคัญในชีวิต (อย่างพ่อแม่) ตั้งแต่ยังเล็กๆ จะช่วยหล่อหลอมให้เขามีความรู้สึกดีๆ กับตัวเอง

รู้ว่าคนในภาพถ่ายคือคน สัตว์ สิ่งของที่เขารัก

ในช่วงท้ายของ 3 เดือนนี้ เด็กๆ จะเริ่มรู้แล้วว่าคนในภาพถ่ายคือตัวเอง พ่อแม่และคน (หรือสัตว์เลี้ยง) ที่เขารัก หรือเวลาส่องกระจก เขาก็รู้แล้วว่าภาพสะท้อนที่เห็นคือตัวเอง ภาพถ่ายจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กวัยนี้เข้าใจเรื่องครอบครัว เพื่อนและตัวเองได้ดี และเด็กๆ ก็ชอบดูรูปจากอัลบั้มซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้รูปหักงอ หรือฉีกขาด

ภาพถ่ายยังช่วยให้เด็กๆ ที่ต้องไปเนิร์สเซอรี่รู้สึกอุ่นใจ ยังใกล้ชิดกับพ่อแม่ด้วย และถ้าเป็นภาพถ่ายแบบถือดูเองได้จะยิ่งช่วยให้เด็กๆ รับมือกับการแยกจากพ่อแม่ได้ดีเป็นพิเศษ คุณครูจึงมักจะให้พ่อแม่นำภาพถ่ายของสมาชิกครอบครัวและคน (หรือสัตว์เลี้ยง) ที่ลูกรักมาใส่ไว้ในตู้ที่เขาใช้เก็บของ เขาจะได้หยิบมาดูยามคิดถึง

ชอบพูดคำว่า “ไม่”

พ่อแม่บางคนอาจจะแปลกใจที่ได้ยินคำว่า “ไม่” จากปากลูกที่เพิ่งอายุ 1 ขวบเศษๆ และอาจคิดไปว่าน่าจะเป็นคำที่เด็กอายุ 2 ขวบซึ่งถือว่าอยู่ในวัยต่อต้านชอบใช้มากกว่า แต่เหตุผลคือ เมื่ออายุเพียง 7 เดือน ลูกก็รู้แล้วว่าคำต่างๆ มีความหมายไม่เหมือนกันและยังรู้ด้วยว่าคำว่า “ไม่” มักจะทำให้เขาต้องหยุดทำสิ่งที่ต้องการ เขาจึงอยากแสดงความเป็นตัวของตัวเองโดยใช้การพูดคำว่า “ไม่” เป็นเครื่องมือ ฉะนั้นเวลาที่พ่อแม่ตั้งคำถาม เขาอาจจะตอบว่า “ไม่” เกือบทุกครั้ง

เพื่อให้การสื่อสารราบรื่นขึ้นและให้ลูกได้พัฒนาทักษะภาษา การคำถามโดยมีตัวเลือกให้เขาจะช่วยได้มาก เช่น “อยากดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเปล่า” และเมื่อเขาจะทำอะไร คุณควรทำให้เขารู้สึกว่าได้ตัดสินใจเอง อย่างให้เลือกถุงเท้าเอง ถึงแม้ถุงเท้าที่เขาเลือกจะไม่เข้ากับเสื้อผ้า แต่อย่างน้อยเขาก็ยอมสวมถุงเท้า และในกรณีที่เลือกไม่ได้จริงๆ คุณก็ไม่ควรจะให้เขาเลือกตั้งแต่แรก

แม้การหักห้ามใจไม่ให้พูดคำว่า “ไม่” กับลูกวัยนี้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่ก็มีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ เช่น ให้ทางเลือก ถ้าจะพูดว่าโยนบอลในบ้านไม่ได้ ให้บอกลูกแทนว่า “ถ้าจะโยนบอล ก็ต้องเล่นข้างนอกบ้าน”หรือ “แต่ถ้าจะกลิ้งบอล ก็เล่นในบ้านได้” แต่ถ้าลูกเกิดทำอะไรที่ไม่ปลอดภัย คุณก็ต้องรีบหยุดพฤติกรรมดังกล่าว คำว่า “ไม่” คือคำสำคัญในกรณีนี้ เช่น “ไม่จับปลั๊กไฟ” “ออกห่างจากเตาแก๊ส” ฯลฯ

ฟันกรามซี่แรก

ฟันกรามซี่แรกอาจจะขึ้นในช่วงนี้หรือช้ากว่า (บางคนก็ขึ้นตอนอายุ 1 ขวบ 7 เดือน) และมักจะทำให้เด็กๆ รู้สึกเจ็บจนพ่อแม่พลอยไม่ได้หลับได้นอนไปตามๆ กัน ซึ่งไม่ต่างกับตอนแรกที่ฟันขึ้น เราช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้เขาได้ด้วยการใช้นิ้วนวดเหงือกหรือจะใช้ยางกัดเย็นๆ แทนก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ผลควรจะขอให้แพทย์ช่วยแนะนำวิธีอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการให้ลูกกินยาแก้ปวด

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up