ระวัง! ลูกล้มหัวฟาดพื้น พฤติกรรมเปลี่ยน อาจมีอะไรผิดปกติ- Amarin Baby & Kids
ลูกล้มหัวฟาด

ลูกล้มหัวฟาดพื้น อย่าชะล่าใจ พฤติกรรมเปลี่ยนไป อาจมีอะไรผิดปกติ!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกล้มหัวฟาด
ลูกล้มหัวฟาด
ลูกล้มหัวฟาดพื้น – เป็นธรรมดาของเด็กวัยเตาะแตะ และวัยก่อนเรียน (1-5 ขวบ) ที่เริ่มจะเดิน เริ่มวิ่ง หรือรู้จักการปีนป่าย จึงมีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม การจัดบ้านให้ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะห้องน้ำถือเป็นจุดอันตรายที่สำคัญภายในบ้าน เพราะเด็กเสี่ยงต่อการลื่นล้มศีรษะกระแทกพื้นได้ค่อนข้างสูง อย่างกรณีของคุณแม่รายหนึ่งที่ได้เปิดเผยเรื่องราวของลูกชายวัยเตาะแตะ ที่ลื่นล้มหงายหลังศีรษะกระแทกพื้นห้องน้ำและได้รู้ภายหลังว่ากะโหลกศีรษะลูกแตกร้าว

ลูกล้มหัวฟาดพื้น อย่าชะล่าใจ พฤติกรรมเปลี่ยนไป อาจมีอะไรผิดปกติ!

คุณแม่ทางบ้านเตือนใจ  กรณีลูกชายเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มหงายหลังหัวฟาดพื้น  โดยเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในขณะที่คุณแม่กำลังอาบน้ำให้ลูก​ พออาบน้ำเสร็จ​คุณแม่หันไปหยิบผ้าเช็ดตัวแค่เสี้ยววินาที พอหันกลับมาเห็นว่าลูกกำลังจะเดินออกจากห้องน้ำ​ คุณแม่จึงบอกว่าอย่าเพิ่งเดินไปเพราะกลัวว่าลูกจะลื่นล้ม​ แต่ลูกชายกลับคิดว่าคุณแม่​เล่นด้วย ทันใดนั้นลูกชายวิ่งแล้วพลาดลื่นล้มหงายหลังหัวฝาดพื้นแรงพอสมควร คุณแม่จึงรีบเข้าไปกอดเอาไว้ น้องจึงได้หยุดร้อง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้คุณแม่ไม่ได้เอะใจอะไร และคิดว่าลูกแค่ลื่นล้มธรรมดา

ผ่านไป 1 อาทิตย์ ลูกพฤติกรรมเปลี่ยน

แต่พอผ่านไปอาทิตย์​นึง คุณแม่เริ่มรู้สึกว่าน้องมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากไม่เคยนอนดึกเลย ก็ เริ่ม นอนดึก จากที่หลับได้ปกติก็ นอนไม่ค่อยหลับ​ แถมยังมีการสะดุ้งตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึก เวลาง่วงนอนก็จะชอบทำท่าเหมือนทำร้ายตัวเอง​ด้วยการตบหัวตัวเอง  บางทีก็เดินเซๆ เหมือนคนเมา ซึ่งคุณแม่ก็ยังคิดว่าเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กกำลังโต เพราะลูกชายก็ยังกินได้ เล่นได้ปกติ​

พบว่าลูกหัวบวมปูด กดแล้วนิ่ม

หลังจากผ่านไปไม่กี่วัน คุณแม่กำลังอาบน้ำให้ลูกชายอยู่แล้วคลำไปเจอก้อนบนหัวลูก จับแล้วบวมๆ ปูดๆ เหมือนลูกโป่ง พอกดเบาๆ แล้วรู้สึกนิ่ม  เห็นท่าไม่ดี จึงตัดสินใจพาลูกชายไปหาหมอ คุณหมอทำการเอ็กซเรย์ให้ ซึ่งจากผลการตรวจ พบว่าน้องมีรอยแตกร้าวที่กะโหลก ซึ่งคุณแม่ตกใจและคิดว่าน่าจะพาน้องมาหาหมอให้เร็วกว่านี้
หลังจากหาหมอกลับมา  น้องดูเล่นได้ตามปกติ แต่มีอยู่คืนหนึ่งที่น้องตื่นมากลางดึกแล้วเดินรอบห้อง ลงไปนอนกับพื้นพร้อมกับอาเจียน ซึ่งคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากอาเจียนเพราะกินนมเยอะไปหรือเกิดจากที่ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งต้องพาไปพบคุณหมอเพื่อติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป  สุดท้ายคุณแม่ได้ฝากถึงแม่ๆ ที่มีลูกเล็กๆ อย่าชะล่าใจ หากลูกล้มหัวฟาดพื้น ต้องไม่ปล่อยผ่าน ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด พร้อมกับย้ำว่าบ้านที่มีลูกเล็กๆ ห้ามเผลอละสายตาจากลูกแม้แต่วินาทีเดียว ​เพราะหากพลาดเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาคงเป็นเราที่ต้องเสียใจไปตลอดชีวิต  ทางทีมแม่ ABK  ขออวยพรให้น้องกลับมาแข็งแรงเป็นปกติในเร็ววันนะคะ
ลูกล้มหัวฟาดพื้น
ลูกล้มหัวฟาดพื้น

อันตรายจากการล้มศีรษะกระแทกพื้นในเด็กเล็ก

อาการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นประสบการณ์ในวัยเด็กที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่วัยที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเด็กวัยเตาะแตะ หากลูกเรามีสุขภาพแข็งแรงก่อนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หลังการลื่นล้ม ไม่หมดสติ ไม่มีบาดแผลที่ศีรษะหรือใบหน้าไม่มีพฤติกรรมผิดปกติหลังจากการล้ม อาจเป็นเพียงการกระแทกที่ศีรษะที่ไม่รุนแรง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำได้คือเฝ้าสังเกตลูกอย่างระมัดระวัง และหากมีข้อกังวล อย่าลังเลที่จะทำตามสัญชาตญาณและพาลูกไปพบแพทย์

สิ่งที่ต้องระวังหลังจากเด็กเล็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

เป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะร้องไห้หลังจากที่ล้มฟัวฟาดพื้น เพราะทั้งตกใจและเจ็บ แต่การร้องไห้ของเด็กๆ ไม่ควรนานเกิน 10 นาที หากลูกของคุณตื่นตัวและตอบสนองต่อคุณ อาการบาดเจ็บที่ศีรษะมักจะไม่รุนแรง เพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ คุณสามารถใช้วิธีประคบเย็น เป็นเวลา 20 นาที เพื่อช่วยให้อาการบวมลดลง นอกจากนี้สามารถให้ยาอะเซตามิโนเฟนกับลูกได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ของลูกก่อนให้ยาตัวอื่น ที่สำคัญคือต้องเฝ้าดูอาการและพฤติกรรมของลูกทุกๆ สองถึงสามชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นปกติดี

อันตรายจาก ประทัดระเบิด สอนลูกให้ระวังไว้ วัยซนเสี่ยงเจ็บสูง!

หมอรามาแนะ วิธีสร้างทักษะความปลอดภัยให้ลูกจากกรณี เด็กตกตึก

6 อันตรายนอกบ้าน ที่ควรสอนลูกให้ระวัง!

หากลูกของคุณล้มและกระแทกศีรษะ แต่ตื่นตัวและตอบสนองปกติ ให้เฝ้าดูลูกอย่างระมัดระวังประมาณ 36 ถึง 48 ชั่วโมง เพื่อดูว่ามีอาการใดๆ ที่อาจบ่งบอกถึงการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือไม่ โดยความผิดปกติที่ต้องคอยสังเกตเป็นพิเศษ ได้แก่ การร้องไห้ หรือหงุดหงิดผิดปกติ การอาเจียนมากกว่าหนึ่งครั้ง การทรงตัวเมื่อนั่งหรือเดินที่ผิดปกติ หรือมีอาการไม่ตอบสนอง เป็นต้น หากลูกของคุณมีอาการเหล่านี้ หรือมีอาการบวมอย่างมีนัยสำคัญบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเช่นการบวมที่มีลักษณะกดแล้วนิ่มจุดที่บวม ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที

ลูกล้มหัวฟาดพื้น

อาการบาดเจ็บที่ต้องรีบพาลูกไปโรงพยาบาล

แนะนำให้พาเด็กไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้ :

  • ซีดผิดปกติที่กินเวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง
  • บวมปูด บริเวณที่ถูกกระแทก กดแล้วรู้สึกนิ่ม
  • การรู้สึกเสียวซ่าที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • อาการชาหรืออ่อนแรงของแขนหรือขา
  • เสียการทรงตัว เดินสะดุด หรือเดินลำบาก
  • อาการชัก
  • เวียนหัวซ้ำๆ หรือเวียนหัวไม่หาย
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนมากกว่าสองหรือสามครั้ง
  • หูอื้อถาวร หรือสูญเสียการได้ยิน
  • พูดออกเสียงไม่ชัด
  • ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือรูม่านตาที่มีขนาดไม่เท่ากัน
  • จดจำใบหน้าที่คุ้นเคยไม่ได้
  • ปวดหัวอย่างต่อเนื่อง อาการแย่ลง
  • ง่วงนอนมากหรือตื่นยาก
  • หงุดหงิด สับสน หรือพฤติกรรมผิดปกติอื่นๆ

การป้องกันอุบัติเหตุในห้องน้ำ

เด็กวัยเตาะแตะ และก่อนวัยเรียน มักได้รับบาดเจ็บภายในบ้านจากการลื่นล้มหรือพลัดตกหกล้มโดยเฉพาะภายในห้องน้ำ ซึ่งเป็นจุดอันตรายที่สำคัญ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เด็กจะลื่นล้มศีรษะกระแทกพื้นได้ การป้องกัน สามารถทำได้โดยวางผ้าหรือพรมเช็ดเท้าแบบหนาหรือหยาบ ไว้ในห้องน้ำเพื่อช่วยลดเสี่ยงต่อการเหยียบแล้วลื่นไถล โดยวางเอาไว้ 2 จุด ได้แก่ หน้าห้องน้ำ และหน้าอ่างน้ำ เพื่อช่วยซับน้ำไม่ให้พื้นเปียก นอกจากนี้อาจติดแถบกันลื่นที่ด้านล่างของอ่างอาบน้ำ หรือ วางเบาะหุ้มไว้เหนือก๊อกน้ำ เพื่อไม่ให้ลูกได้รับบาดเจ็บหากพลาดกระแทกศีรษะ บ้านที่มีเด็กเล็กๆ ฝาชักโครกควรปิดไว้เสมอหลังการใช้งาน เพราะเด็กวัยหัดเดินจะค่อนข้างขี้สงสัยบางครั้งอาจพยายามเล่นน้ำ และอาจเสียการทรงตัวตกลงไป ที่สำคัญ ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำควรตรวจตราดูว่า มีเศษสบู่หรือคราบผงซักฟอกจับอยู่บนพื้น ถ้ามีก็ควรขัดออกก่อนจะมีใครมาลื่นล้ม นอกจากนี้ อ่างอาบน้ำ ควรมียางกันลื่น เพื่อป้องกันการลื่นล้มหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ควรปล่อยให้เด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ อยู่ในอ่างคนเดียว เพราะอันตรายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
การตระหนักในอันตรายต่างๆ และเฝ้าระวังและป้องกันลูกน้อยจากการบาดเจ็บ จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดกับลูกๆ ของเราได้ ด้วยการคิดให้รอบด้านว่าอะไรจะเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้บ้างและหาทาง ป้องกันและแก้ไข นอกจากนี้ การปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้รู้จักเรื่องของความปลอดภัย จะช่วยเสริมสร้างทัก๋ษะความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ เพื่อให้เด็กๆ มีความรู้ ตลอดจนภูมิมีคุ้มกันที่ดีต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถรู้เท่าทันอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : healthychildren.org , sutterhealth.org , ณัฐยานันท์ พันตรีแสง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up