ภาวะขาดน้ำในเด็ก – เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนสูญเสียน้ำในร่างกายได้ตลอดทั้งวัน น้ำสามารถระเหยจากผิวหนังและจากร่างกายเมื่อ เราหายใจ ร้องไห้ เหงื่อออก และขับถ่าย โดยปกติแล้วเด็กวัยเตาะแตะ จะได้รับน้ำเพียงพอจากการกินและดื่มเพื่อทดแทนของเหลวที่สูญเสียไป ยิ่งบ้านเราเป็นเมืองร้อนน้ำยิ่งมีความสำคัญเพราะร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย และในบางกรณีเด็กอาจสูญเสียน้ำได้มากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากความเจ็บป่วยบางอย่างของร่างกาย เช่น มีไข้ ท้องอืด การออกไปข้างนอกในสภาพอากาศร้อน หรือการออกกำลังกายมากเกินไป
ความต้องการน้ำของเด็กยังแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่างๆ เช่น อายุ เพศ สภาพอากาศ และความหนักเบาของกิจกรรมที่ทำ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียของเหลวมากเกินไป และสามารถนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ เมื่อเด็กเกิดภาวะขาดน้ำ ร่างกายจะไม่มีของเหลวและน้ำเพียงพอที่จะทำให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ และในกรณีที่รุนแรงอาจนำไปสู่ความเสียหายของสมองหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ วันนี้เรามาเรียนรู้สัญญาณเตือนของการขาดน้ำในเด็กตลอดจนเคล็ดลับในการป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำในเด็กกันค่ะ
เช็คสิ! ลูกของคุณเสี่ยงต่อการขาดน้ำหรือไม่?
การขาดน้ำเกิดขึ้นเมื่อของเหลวออกจากร่างกายมากกว่าที่จะเข้าสู่ร่างกาย เด็กมักขาดน้ำได้ง่ายกว่าวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เนื่องจากขนาดร่างกายที่เล็กกว่า และมีปริมาณน้ำสำรองน้อยกว่า นอกจากนี้เด็กวัยเตาะแตะบางคนขาดน้ำเพราะดื่มน้ำไม่เพียงพอ ปัจจัยบางอย่างอาจทำให้เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดน้ำ
ได้แก่ :
- มีไข้สูง
- อาเจียน
- ท้องร่วง
- เหงื่อออกมากเกินไป
- ปริมาณของเหลวที่ไม่ดีระหว่างการเจ็บป่วย
- ความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หรือความผิดปกติของลำไส้
- การสัมผัสกับอากาศร้อนและชื้น
- อาการท้องร่วงอาจเกิดจากการติดเชื้อ (ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต) การแพ้อาหาร หรืออาการทางการแพทย์ เช่น โรคลำไส้อักเสบ หรือปฏิกิริยาจากยาบางชนิด
หากลูกของคุณอาเจียน อุจจาระเป็นน้ำ หรือไม่สามารถดื่มน้ำ หรือไม่อยากดื่มน้ำ เนื่องจากความเจ็บป่วย ให้ตรวจดูสัญญาณของการขาดน้ำ และเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
เช็คสัญญาณเตือนลูกขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำในเด็ก เป็นแบบไหน?
สัญญาณเตือนภาวะขาดน้ำในเด็กเล็ก
ภาวะขาดน้ำอาจค่อยๆ เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน เด็กวัยเตาะแตะที่มีอาการเจ็บป่วยโดยเฉพาะไข้หวัดลงกระเพาะ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณของการขาดน้ำ ทางที่ดี อย่าปล่อยให้ลูกกระหายน้ำมากเกินไป หากพวกเขากระหายน้ำมาก อาจเข้าสู่ภาวะขาดน้ำแล้ว ดังนั้นควรระวังสัญญาณเตือนเหล่านี้ไว้:
- ริมฝีปากแห้งแตก
- ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีเลยเป็นเวลาแปดชั่วโมง
- ผิวเย็น หรือแห้ง
- ง่วงนอน
- ระดับพลังงานต่ำ
- ไม่มีน้ำตาเมื่อร้องไห้
- กระวนกระวาย
- หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว
- ในกรณีที่ร้ายแรงเด็กอาจเพ้อหรือหมดสติได้
การรักษาภาวะขาดน้ำในเด็กเล็ก
วิธีเดียวที่จะรักษาภาวะขาดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการเติมของเหลวทดแทนที่สูญเสียไป การขาดน้ำเพียงเล็กน้อยสามารถจัดการได้ที่บ้าน หากลูกน้อยของคุณมีอาการท้องร่วงอาเจียนมีไข้หรือมีอาการขาดน้ำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ให้สารละลายทางช่องปาก (ORS) ให้ลูกได้รับสารละลายทางช่องปาก เช่น พีเดียไลท์ (Pedialyte) สารละลายเหล่านี้ประกอบด้วยน้ำและเกลือแร่ในสัดส่วนที่เหมาะสมและย่อยง่าย โดยปกติน้ำเปล่าจะไม่เพียงพอหากคุณไม่มีวิธีการให้น้ำทางช่องปากเนื่องจากน้ำเปล่ามีอิเล็กโทรไลต์ต่ำ คุณสามารถลองใช้นมหรือน้ำผลไม้เจือจางกับสารละลายนี้ได้ อย่างไรก็ดี ควรให้ Pedialyte แก่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ค่อยๆให้ทีละน้อย จนกว่าจะสังเกตว่าปัสสาวะลูกดูใสขึ้น หากลูกของคุณอาเจียน ควรให้ทีละน้อยจนกว่าจะสามารถระงับอาการได้ แม้เด็กอาจจะรับน้ำได้ครั้งละหนึ่งช้อนโต๊ะ แต่ก็ดีกว่าไม่ให้ร่างกายได้รับของเหลวทดแทนเลย ทางที่ดี ให้ค่อยๆ เพิ่มความถี่และปริมาณ การให้เร็วเกินไปมากเกินไปมักจะทำให้อาเจียนได้
- หากคุณยังให้นมบุตร สามารถให้ต่อไป นอกจากนี้คุณยังสามารถ ผสม พีเดียไลท์ (Pedialyte) ให้ลูกในขวดนมได้อีกด้วย
การป้องกันการขาดน้ำในเด็กเล็ก
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองที่จะต้องเรียนรู้สัญญาณเตือนของการขาดน้ำ เพราะหากปล่อยลูกให้กระหายน้ำมากเกินไปก็อาจสายเกินแก้ได้ทัน ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนในการป้องกันภาวะขาดน้ำในเด็กเล็ก
- หากลูกของคุณป่วย ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับปริมาณของเหลวของพวกเขา เริ่มให้น้ำทดแทน และเฝ้าสังเกตดูอาการ
- เด็กที่ไม่กินหรือดื่มเนื่องจากอาการเจ็บคออ าจต้องบรรเทาความเจ็บปวดด้วยยาแก้ปวดลดไข้สำหรับเด็ก
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกของคุณฉีดวัคซีนครบถ้วน รวมถึงวัคซีนโรตาไวรัส โรตาไวรัสเป็นสาเหตุหนึ่งในสามของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พูดคุยกับแพทย์ของคุณหากคุณมีข้อกังวลหรือคำถามเกี่ยวกับวัคซีนโรตาไวรัส
- สอนลูกๆ ของคุณ ถึงวิธีล้างมือก่อนรับประทานอาหารและการดื่มน้ำ และหลังใช้ห้องน้ำด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่างๆ
- กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ ก่อน ระหว่าง และหลัง การออกกำลังกาย
ควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อใด
พาลูกของคุณไปพบแพทย์ ถ้าหาก :
- ลูกดูอาการไม่ดีขึ้นหรือขาดน้ำมากขึ้น
- มีเลือดปนในอุจจาระ หรืออาเจียน
- ลูกของคุณปฏิเสธที่จะดื่มหรือ ไม่ได้รับสารละลายในช่องปาก
- การอาเจียนหรือท้องร่วงของเด็กวัยเตาะแตะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงและไม่สามารถดื่มของเหลวได้เพียงพอเพื่อให้ทันกับปริมาณที่สูญเสียไ
- อาการท้องร่วงเป็นเวลานานกว่าสองสามวัน
- แพทย์สามารถตรวจหาภาวะขาดน้ำและเติมของเหลวและเกลือแร่ให้บุตรหลานของคุณได้อย่างรวดเร็วทางหลอดเลือดดำหากจำเป็น
ทั้งนี้การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะส่งผลดีระบบต่างๆ ของร่างกาย น้ำที่ดื่มเข้าไปจะทดแทนส่วนที่สูญเสียไปในแต่ละวัน หากสามารถปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ นอกจากนี้การปลูกฝังให้ลูกหันมาใส่ใจเรื่องการดื่มน้ำเพื่อสุขภาพที่ดี ก็จะช่วยให้ลูกๆ ปลอดภัยจากภาวะอันตรายที่เกิดจากการขาดน้ำได้ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือหาเด็กๆ ได้รับการ ส่งเสริมและปลูกฝังจากคุณพ่อคุณแม่ให้รู้จักดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันก็จะเป็นกาเสริมสรา้งทักษะ ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ)ได้อีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.healthline.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการที่ต้องพาลูกไปหาหมอ วิธีสังเกตว่าลูกป่วย ต้องรีบไปโรงพยาบาล
7 โรคในฤดูร้อน 3 ภัยจากอากาศร้อน ที่เด็กเล็กต้องระวัง!!
10 รายชื่อหมอเด็ก ที่เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์และเฉพาะทางโรคเด็ก ที่แม่บอกต่อ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่