คนเป็นพ่อแม่แทบทุกคนต้องเคยเผชิญปัญหา “ลูกเถียง” จะต่างกันก็ตรงที่เถียงน้อย เถียงมาก เถียงแหลก เถียงคำไม่ตกฟาก เถียงทันควัน ฯลฯ และมักจบเรื่องการเถียงด้วยอารมณ์เสีย โกรธ โมโห และทะเลาะกันในที่สุด
มาทำความรู้จักก่อนว่าทำไม “เด็กชอบเถียง”
เด็กที่มีนิสัยชอบเถียงมีหลายสาเหตุที่ทำให้เด็กชอบพูดย้อนผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่มักไม่ชอบพฤติกรรมเหล่านี้ และมักจะตำหนิเด็กเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งผู้ใหญ่เองก็เป็นตัวการกระตุ้นให้เด็กชอบเถียงด้วยก็เป็นได้
บางครั้งการที่ลูกพูดจายอกย้อน อาจมีสาเหตุมาจากความรู้สึกกลัวในคำขู่เข็ญ หรือคำตำหนิของพ่อแม่ที่เพิ่งพูดกับเขาไว้ก็ได้ บางทีลูกอาจไม่เข้าใจ และไม่รู้ความหมายของสิ่งที่พูดออกไปก็ได้ หรือบางทีลูกอาจเข้าใจดีและตั้งใจที่จะพูดจายอกย้อนใส่เพื่อตอบโต้พ่อแม่ เมื่อพ่อแม่พูดว่า “บางครั้งลูกต้องรู้จักคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นบ้าง ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง” ถือเป็นคำพูดที่ดีในการสั่งสอนลูก แต่ก็เป็นวิธีการสื่อสารที่ตรงและรุนแรงเกินไปสำหรับลูกที่จะยอมรับได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเป็นผลให้ลูกตอบกลับมาอย่างโกรธ ๆ ว่า “แม่ต่างหากที่ต้องคิดถึงคนอื่นบ้าง ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง!” คำพูดย้อนลักษณะนี้แสดงว่าลูกไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูด แล้วการพูดจายอกย้อนของลูกจะทำให้พ่อแม่ใช้คำตำหนิที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้ลูกเก็บคำพูดเหล่านี้เอาไว้ในใจ
เด็กที่เข้าข่ายลักษณะนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ผู้ปกครองในการชี้แนะให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองด้วย แต่ก่อนอื่นควรต้องหาสาเหตุของเจ้าจอมเถียงซะก่อน
- เลียนแบบใครหรือเปล่า ?
กรณีเด็กเล็กอาจซึมซับพฤติกรรมจอมเถียงจากผู้ใหญ่ในบ้าน ทั้งการพูดจา ท่าทาง การใช้โทนเสียง พ่อแม่อาจต้องลองสังเกตดูว่ามีใครในบ้านที่แสดงพฤติกรรมอย่างนั้นออกมาให้เด็กเห็นบ่อย ๆ หรือเปล่า ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพ่อแม่ แต่อาจเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน หรือคนที่เด็กอาจคลุกคลีอยู่ด้วยเป็นประจำ ถ้ามีล่ะก็ควรเริ่มจากการบอกกล่าวให้ผู้นั้นเลิกพฤติกรรมดังกล่าวเสียก่อน เรียกว่าเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
- เรียกร้องความสนใจ
มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าตัวเองขาดรัก และไม่มีใครสนใจพวกเขา รวมถึงพ่อแม่ด้วย ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเริ่มโตแล้วจึงพร้อมจะโต้เถียงกับทุกคน แต่นั่นอาจเป็นการทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ทั้งหลาย โดยเฉพาะพ่อแม่ เพราะมีเด็กบางคนเกิดการเรียนรู้ว่า การดื้อ หรือการเถียงนั้นสามารถดึงดูดผู้ใหญ่ให้รู้สึกหงุดหงิด หรือให้มาสนใจเขาได้ โดยไม่สนใจว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
- อยากแสดงความเป็นอิสระ ไม่ต้องการถูกควบคุม
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กก่อนเข้าสู่วัยรุ่นจนถึงกลุ่มวัยรุ่น ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูกที่สุด พ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็เลยแสดงพฤติกรรมออกมาด้วยการเถียง บางคนถึงขนาดต้องเถียงทุกเรื่องทั้งที่บางทีก็เห็นด้วย แต่ด้วยความเคยชินก็เลยเถียงไว้ก่อน