กินยาต่อเนื่อง สู้ภัย “ไอ” จากวัณโรค
วัณโรคแม้จะเป็นโรคที่ฟังดูน่ากลัวและอันตราย เนื่องจากหลายรายมีอาการไอรุนแรงและมีเลือดปน แต่คุณหมอยืนยันว่ารักษาให้หายขาดได้ไม่ยาก เพียงรับประทานยาต้านวัณโรคต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ก็จะหายจากโรคและกลับมาแข็งแรงได้ไม่ยาก แม้ยารักษาวัณโรคอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง หรือเบื่ออาหาร แต่เด็กมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากใช้ปริมาณยาน้อยกว่ามาก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลและให้ลูกน้อยกินยาตามหมอสั่งได้อย่างสบายใจ ปัญหาของวัณโรคในประเทศไทยที่เป็นกันรุนแรงเกิดจากการกินยาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดวัณโรคชนิดดื้อยาซึ่งรักษายากและบางรายไม่สามารถรักษาให้หายได้นั่นเอง
ดูแลลูกไอเรื้อรังไม่ยากอย่างที่คิด
การดูแลลูกน้อยที่มีอาการไอเรื้อรัง เพียงพาลูกน้อยไปรักษากับคุณหมอ ดูแลให้กินยาจนครบ และดูแลเพิ่มเติมตามสาเหตุของอาการไอ เท่านี้ก็สามารถรักษาอาการไอเรื้อรังได้ไม่ยาก
- หากเป็นไอเรื้อรังที่เกิดจากน้ำมูกไหลลงคอ คุณพ่อคุณแม่ควรดูดน้ำมูกออกหรือล้างจมูกให้ลูกน้อย
- หากอาการไอมีสาเหตุจากเสมหะ เพียงให้ลูกน้อยดื่มน้ำอุ่นเยอะๆ เพื่อให้น้ำอุ่นช่วยละลายเสมหะในหลอดลม
- หากเป็นอาการไอแห้งๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสารระคายเคืองที่อยู่บริเวณจมูกให้หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง และล้างจมูกให้ลูกน้อยด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดปริมาณสารระคายเคืองที่สะสมในจมูกและลำคอ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยไอน้อยลงหรือหายจากอาการไอได้
สุดท้ายนี้คุณหมอฝากคำเตือนถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวจากประสบการณ์ของคุณหมอเนื่องจากอาการไอในเด็กวัยเตาะแตะส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อจากแม่หรือคนในครอบครัว แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยการชวนทั้งครอบครัวล้างมือเป็นประจำ ให้คนป่วยในบ้านสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ ดูแลให้ลูกน้อยกินอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน โดยเฉพาะวัคซีนสำคัญสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ เช่น วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนวัณโรค วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนเหล่านี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบหายใจ หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกน้อยฉีดวัคซีนเหล่านี้ได้ โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็จะลดลงไปมากทีเดียวค่ะ
นพ.เฉลิมไทย เอกศิลป์ กุมารแพทย์หัวหน้าศูนย์อภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต และกุมารแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจในเด็ก ประจำศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3
ภาพประกอบ : shutterstock