การที่เด็กทำอาหารหกนั้นมีอยู่ 2 ประการคือ ไม่ตั้งใจกับตั้งใจ สำหรับการทำหกอย่างไม่ตั้งใจเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางร่างกายของเขา เพราะทั้งสมาธิและทักษะที่ละเอียดอ่อนยังไม่สัมพันธ์กัน และยังต้องใช้เวลาฝึกอีกนานก่อนที่จะถือได้มั่นคง
สำหรับการทำหกอย่างตั้งใจนั้น ส่วนใหญ่่เกิดจากความสงสัยใคร่รู้ของเด็กเองว่าเมื่อคว่ำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นนะ ในความคิดของผู้ใหญ่อย่างเรา เมื่อเด็กเห็นผลของการกระทำของตัวเองแล้วจะไม่ทำผิดซ้ำอีก แต่สำหรับความคิดของเด็กแล้ว เขาจะมีความกระตือรือร้นอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ชอบทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ป้องกันเหตุที่ไม่ควรจะเกิด เช่น เลือกใช้ถ้วยที่ก้นหนัก ขนาดเหมาะมือ รินน้ำให้ลูกแต่เพียงน้อยๆ ถ้าลูกเรียกร้องว่าต้องเทให้เต็มแก้วทุกครั้ง ก็ควรใช้แก้วขนาดเล็กมากๆ ถ้าเผื่อหกก็ไม่ต้องทำความสะอาดมาก และอย่าให้ลูกดื่มหรือกินอาหารเมื่ออยู่ในที่ที่ทำความสะอาดยาก เช่น บนพรมบนเก้าอี้ผ้า ซึ่งแม้จะบังคับไม่ให้ลูกทำหกไม่ได้ แต่ความเสียหายจะเกิดน้อยกว่า
อย่าตำหนิลูกที่ทำอะไรตามวัยเขา เมื่อลูกทำอาหารหกโดยไม่ตั้งใจ อย่าอารมณ์เสียใส่ลูก แต่อธิบายว่าให้ถือให้มั่นคง ขอให้คิดถึงว่า บางครั้งคุณก็เคยทำความผิดพลาดเช่นกัน
หากเป็นการทำหกอย่างตั้งใจ ควรให้ลูกช่วยทำความสะอาดด้วย จะช่วยให้เขารู้จักรับผิดชอบผลของการกระทำ พูดกับเขาอย่างชัดเจนว่าการทำอย่างนี้ทำให้แม่เดือดร้อนและแม่จะยึดถ้วยไว้จนกว่าเขาจะหิวน้ำจริงๆ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง