เพราะไม่ใช่แค่ขา แต่หนูน้อยยังใช้มือจับหรือปัดป่ายข้าวของด้วยทุกครั้งที่เดินไปไหนต่อไหน
แล้วจะทำอย่างไรให้ลูกได้สำรวจโลกอย่างปลอดภัยดีนะ
• เก็บให้พ้นมือ เมื่อกินอาหารเสร็จแล้วเจ้าตัวเล็กอยากทดลองว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขาปัดถ้วยชามตกพื้น คุณก็ควรเก็บภาชนะดังกล่าวให้พ้นมือเขาทันที รวมถึงของอื่นๆ ในบ้านที่ง่ายต่อการแตกหักด้วย
• เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อออกไปนอกบ้าน เช่น ตามศูนย์การค้า ก็ควรหลีกเลี่ยงโซนจานชามหรือของที่ตกแตกได้ง่าย ถ้าจำเป็นต้องพาเจ้าตัวเล็กไปด้วย ก็อาจจะให้เขานั่งในรถเข็นแล้วคาดสายรัดไว้ พร้อมยื่นของเล่นชิ้นโปรดเพื่อให้ลูกมือไม่ว่าง ถ้าหนูน้อยยังอยู่ไม่สุขก็ให้เขามาช่วยคุณช็อปปิ้งแทน เช่น หยิบส้มใส่ถุง หยิบของใส่รถเข็น
• สอนว่าสิ่งไหนควร – ไม่ควร คุณอาจจะอยากปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่บางอย่างก็อันตราย เช่น เตารีดที่เสียบปลั๊กอยู่ กาน้ำร้อน ชั้นวางแก้ว ฯลฯ คุณจึงต้องห้ามและสอนให้ลูกรู้ทันทีว่าสิ่งไหนไม่ควรจับ โดยอาจต้องบอกซ้ำๆ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กค่อยๆ ซึมซับไป
• เปิดโอกาสให้ลองทำ ถ้าลูกอยากจับยาสีฟัน คุณก็สอนให้เขาบีบใส่แปรง อยากกดรีโมตโทรทัศน์ ก็ให้เขาลองเปลี่ยนช่องตามอัธยาศัย อยากแตะสวิตช์ไฟ ก็สอนให้เขารู้จักปิดเมื่อเลิกใช้งาน (ทำทุกอย่างโดยมีคุณคอยดูแลอย่างใกล้ชิด) เมื่อหนูน้อยได้ทำสิ่งที่ต้องการโดยไม่ถูกห้าม เขาก็จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นยั่วยวนใจน้อยลง
• หาสิ่งของทดแทน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการสัมผัสของจริง เช่น ถ้าลูกอยากรื้อกองผ้าที่คุณพับไว้ ก็ให้เลื่อนกองผ้านั้นไปทางอื่น แล้วยื่นผ้าขนหนูหรือเสื้อยืดให้เขาจับเล่น (จะสอนลูกพับผ้าไปในตัวก็ได้) ถ้าเขาอยากกดปุ่มมือถือ ก็อาจจะหาโทรศัพท์ของเล่นมาให้หนูน้อยได้บริหารนิ้วแทน
• อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เด็กวัยนี้ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ (โดยเฉพาะเด็กที่กำลังย่างเข้า 2 ขวบ) คุณจึงไม่ควรดุว่าให้ใหญ่โต เพราะเขาจะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้พ่อแม่เกิดปฏิกิริยาได้ขนาดนั้นช่างน่าทำซ้ำเสียเหลือเกิน (ไม่ว่าการตอบสนองของคุณจะเป็นไปในทางบวกหรือลบก็ตาม) คุณจึงควรหาทางหลอกล่อและเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น อาจจะห้ามแบบเนียนๆ โดยใช้อารมณ์ขันเข้าช่วย แทนที่จะตีหน้ายักษ์ใส่ลูก
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง