น้องนิหน่าวัย 3 ขวบยื่นเปลือกหอย หนึ่งกำมือให้คุณแม่อย่างชื่นมื่น และถามด้วยความมั่นใจว่า คุณแม่อยากได้จุ๊บแจงบ้างมั้ยคะ ถึงจะพูดคำว่า “เปลือกหอย” ได้แล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในมือก็ยังเป็น “จุ๊บแจง” สำหรับหนูนิหน่าอยู่ดี
เด็กวัยเตาะแตะที่ชอบพูดคำแปลกๆ ก็เหมือนกับเด็กทารกที่ชอบส่งเสียงอือๆ อาๆ นั่นแหละ พวกเขาอยากทดลองเปล่งเสียงต่างๆ และเรียนรู้จากเสียงที่ได้ยิน ซึ่งสิ่งที่คุณควรทำมีดังนี้
1. อย่ากังวลกับการแก้ไขคำพูดของลูก
คุณไม่จำเป็นต้องพูดทวนคำให้ถูกต้อง เพราะลูกรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาคืออะไร และการสร้างสรรค์คำขึ้นมาเองจะช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องวิธีใช้คำจริงๆ ได้ดีขึ้น
2. เล่นตามน้ำไปด้วย
เพราะประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับคุณมีความสำคัญสำหรับลูกมากกว่าการยึดถือคำที่ถูกต้องตามพจนานุกรม
3. ช่วยอธิบายคำพูดของลูก
คุณอาจจะต้องช่วยอธิบายเมื่อคนอื่นไม่เข้าใจคำพูดของลูก เช่นพูดว่า คุณป้าไม่รู้ว่าจุ๊บแจงที่หนูพูดคืออะไร หนูจะพูดใหม่ให้คุณป้าเข้าใจว่ายังไงคะ
4. เก็บพฤติกรรมนี้ไว้ในความทรงจำที่แสนสุข
จดคำพูดแปลกๆ (และดูเหมือนไร้สาระ) ที่ลูกชอบใช้ไว้ในสมุดบันทึกความทรงจำในวัยเด็กของเขา เพราะเมื่อถึงวัยอนุบาลแล้ว ทุกคนก็จะพากันลืมเลือนคำพูดพวกนั้นจนหมดสิ้น
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง