ลูกเดินได้เร็ว หรือ ช้า อย่ากังวล - Amarin Baby & Kids

ลูกเดินได้เร็ว หรือ ช้า อย่ากังวล

Alternative Textaccount_circle
event

การตามติดลูกทารกเข้าวัยเตาะแตะ เรื่องเดินเป็นพัฒนาการสำคัญที่พ่อแม่มือใหม่จับจ้องมาก ทั้งรอ ลุ้นตื่นเต้นเวลาเห็นลูกขยับ ไปจนถึงกังวลสุดๆ ที่ไม่เห็นลูกเดิน

“ลูกเดินช้าไปหรือไม่ เขามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า” เป็นประเด็นที่คุณหมอเด็กหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการจะย้ำกับคุณพ่อคุณแม่เสมอว่า อย่ากังวลใจเกินไป อายุโดยเฉลี่ยที่เด็กจะเริ่มก้าวเดินอยู่ในช่วง 1 ขวบ 1 เดือน ถึง 1 ขวบ 3 เดือน มีจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยที่จะเริ่มหัดเดินกันตั้งแต่อายุ 7 – 8 เดือน และกว่าเด็กๆ จะเดินได้มั่นคงสมบูรณ์ ประมาณ 1 ขวบ 4 เดือน หรือมากกว่านั้น

ส่วนเรื่องลูกเดินเร็วหรือเดินช้า ไม่ใช่สิ่งบอกความปกติหรือไม่ปกติของสมรรถภาพทางร่างกายของเขา

 

ช่วงนี้แทนที่คุณจะกังวลเกินไปจนกลายเป็นไปเร่งรัดให้ลูกเดินได้เร็วๆ มาให้เวลาและโอกาสลูกได้ฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นก่อนเดินได้กันเถอะ เรามีคำแนะนำในเรื่องที่ควรทำเพื่อการส่งเสริมทักษะเกี่ยวกับการเดินและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงจากคุณหมอเด็กมาฝากกัน

  1. หมั่นกระตุ้นให้ลูกหัดเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืน โดยให้เขาจับมือคุณเกาะแข้งเกาะขา หรือแม้แต่เกาะคางของคุณ เกาะขาโต๊ะกินข้าวหรือโต๊ะอื่นที่มั่นคงแข็งแรง หรือเกาะซี่กรงของเตียงคอก
  2. ช่วยให้เขาได้ขยับเดินในระยะใกล้ๆ เช่น จากเกาะหัวเข่าคุณแล้วขยับไปเกาะหัวเข่าพ่อเขาที่อยู่ใกล้คุณ เกาะขาเก้าอี้จากตัวหนึ่งไปตัวใกล้ๆ อีกตัว หรือเกาะซี่กรงเตียง แล้วค่อยๆ กระเถิบเดินไปรอบๆเตียง
  3. เล่นเกม หากดูอาการแล้วเจ้าหนูยังอยากนั่งหรือคลานมากกว่าเดินก็ชวนมาเล่นเกมกัน เกมเด้งดึ๋งแข่งกันหน่อย ใครจะลุกยืนเร็วกว่ากันวิธีนี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อขาไปด้วย
  4. ให้เดินเท้าเปล่า เวลาเดินในบ้าน และหากไปนอกบ้าน ให้ลูกได้เดินเท้าเปล่าบนพื้นปูน พื้นดิน ทราย หรือพื้นหญ้า ที่คุณสำรวจแล้วว่าปลอดภัย เพื่อบริหารกล้ามเนื้อขาและเท้า การได้สัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างจากที่คุ้นเคยจะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากเดินมากขึ้น รวมทั้งสังเกตรองเท้า ของลูก ไม่ให้คับหรือหลวมเกินไป เพราะรองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้าเป็นเหตุขัดขวางการเดินของลูกได้

 

ถ้าหากลองใช้วิธีการเหล่านี้แล้วเจ้าตัวเล็กยังไม่อยากจะหัดเดินเลยคงต้องรอเวลาที่เขาพร้อมจริงๆ แล้วละ แต่หากคุณยังกังวล ก็ปรึกษาคุณหมอได้

  1.  ไม่ให้ลูกใช้เวลานาน นั่งบนเก้าอี้กินข้าวเด็ก (high chair) รถเข็น หรือเบาะของเล่นเด็ก (playpen)
  2. ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินทุกชนิด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกเดินได้แล้ว จะยิ่งทำให้ลูกเดินช้าไปอีก และยังเป็นสาเหตุ ของอุบัติเหตุในเด็กอีกมากมาย

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up