อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ สำรวจว่า ลูกแสดงอาการเจ็บป่วยเหล่านี้หรือไม่ ? ? เซื่องซึม, อ่อนแอลง, เหนื่อยเพลีย, มีไข้, น้ำหนักลด หรือหงุดหงิดฉุนเฉียว – – ถ้าหากว่าลูกไม่มีอาการเหล่านี้ ร่างกายของเขาเป็นปกติดี ยกเว้นแค่ความอยากอาหารลดลงเท่านั้น
สาเหตุของอาการนี้ก็อาจมาจาก
1. สัญชาติญาณของการปกครองตนเอง ลักษณะนิสัยปกติของเด็กซึ่งพ้นจากวัยทารก คุณจะเริ่มพบกับการต่อต้านมากขึ้น ไม่เฉพาะบนโต๊ะอาหาร แต่รวมไปถึงหน้าตู้เสื้อผ้า บนเตียงนอน หรือแม้แต่สนามเด็กเล่น
2. อัตราเฉลี่ยของการเจริญเติบโตที่ช้าลง ปรากฏในช่วงปลายของช่วง 1 ขวบแรก ในเมื่อเด็กต้องใช้สารอาหารในการยืดตัวน้อยลง หนูก็อาจกินข้าวได้น้อยลงไปด้วย (จะน่าตกใจกว่า หากลูกเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยเท่าเดิม เพราะแกจะมีน้ำหนักตัวเท่าเด็ก 5 ขวบ ขณะที่มีอายุแค่ 2 ขวบ!)
3. วิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ดึงเอาเวลาส่วนหนึ่งไป ก็การฝึกทักษะด้านต่างๆ โดยเฉพาะการก้าวเดิน ซึ่งน่าสนใจกว่าการกินตั้งเยอะ
4. พัฒนาการทางด้านความจำ ขณะที่ทารกดูดหรือกินนมราวกับว่า พรุ่งนี้จะไม่มีให้กินอีกแล้ว เด็กวัยเตาะแตะกลับเริ่มรับรู้ว่า “คนเรากินได้หลายๆ ครั้งในหนึ่งวัน ถ้าหนูไม่กินตอนนี้ อีกเดี๋ยวหนูค่อยกินก็ได้” ในเมื่อตอนนี้กำลังเพลินกับกิจกรรมใหม่ๆ ตรงหน้า แกก็ไม่อยากหยุดชะงักเพื่อกินอาหารหรอก (ยังไงก็ยังมีมื้อต่อไปรออยู่)
สาเหตุดังกล่าว ทำให้ทราบว่า การที่ลูกอยากอาหารน้อยลงนั้นเป็นเรื่องปกติ การศึกษาพบว่า เด็กวัยเตาะแตะที่มีสุขภาพดีนั้น คือ คนที่ไม่ถูกบังคับให้รับประทานอาหาร หรือได้รับประทานอย่างพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เด็กเหล่านี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ถูกบังคับให้กินข้าว (และเด็กกลุ่มหลังนี้มักเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องการรับประทานอาหารต่อไปด้วย)
ความอยากอาหารที่ปรวนแปรนี้อาจกินเวลานาน มื้อต่อมื้อ วันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ หรือแม้แต่เป็นเดือน หนูน้อยบางคนอาจกินเก่งในมื้อหนึ่ง แต่มื้ออื่นๆ กลับแค่แทะๆ เล็มๆ พอเป็นพิธี ขณะที่เด็กบางคนอาจชอบกินมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่กังวล อาจลงบันทึกว่า มื้อนี้ลูกกินอาหารน้อยหรือมาก และกินไปเท่าไร แล้วนำมาเปรียบเทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ถ้าคุณเห็นอัตราขึ้น-ลงที่สม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องกังวล หรือจะเอาตารางนั้นไปปรึกษากับนักโภชนาการหรือคุณหมออีกครั้งเพื่อความแน่ใจก็ได้
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง