คุณแม่ลองเปลี่ยนเมนูอาหารเป็นแบบอื่นที่ไม่จำเจดูหรือยังคะ บางทีลูกอาจเบื่ออาหารเดิมๆ รสชาติจืดชืดแบบอาหารเด็ก และอาจอยากลองรสชาติที่หลากหลายขึ้น ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งรับประทานพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกที่สนามหญ้าเหมือนไปปิกนิก ก็เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น คุยกันไป รับประทานกันไป ลูกอาจเพลินจนหม่ำได้มาก
นอกจากนี้คุณแม่อาจเลือกให้อาหารทดแทนตามหลักอาหาร 5 หมู่ เช่น ถ้าลูกเบื่อข้าว ลองเปลี่ยนเป็น ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง มันฝรั่ง ซีเรียล หรือข้าวเหนียว ถ้าไม่ยอมเคี้ยวเนื้อสัตว์ แต่ยอมรับประทานนมและไข่ก็พอไหวค่ะ อย่าไปเครียดกับการกินของลูกมากนัก ทำเป็นแกล้งไม่สนใจ เพราะบางครั้งคะยั้นคะยองอนง้อมากเกินไปก็ยิ่งเล่นตัวมากขึ้น ควรจำกัดเวลารับประทานอาหารไว้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือถ้าลูกเริ่มเขี่ยข้าวเล่นหรือคายทิ้งแล้วก็เก็บเลย ไม่ต้องดุด่าว่ากล่าว พูดธรรมดาๆ ว่า ถ้าไม่กินต่อ แม่ก็จะเก็บแล้ว และแต่ละมื้ออย่าเตรียมอาหารให้ลูกในปริมาณมากเกินไป ลูกจะได้มีกำลังใจในการรับประทาน ถึงหมดก็เติมใหม่ได้ หรือถ้าเหลือแล้วต้องทิ้งก็ไม่เสียดาย มาก ถ้าเขารับประทานทานน้อยในมื้อนี้ ก็จะหิวมากขึ้น ในมื้อต่อไปเอง
ในหนึ่งวันไม่จำเป็นต้องรับประทานหมดทุกมื้อหรอกค่ะ มีหนึ่งมื้อที่หม่ำได้หมดก็บุญ เอ๊ย ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า ไม่เปิดทีวีในระหว่างมื้ออาหาร เพราะลูกอาจดูเพลินจนลืมเคี้ยว หากยังไม่ถึงเวลามื้อต่อไปแล้วลูกรู้สึกหิว ให้ได้แต่ของว่างที่มีประโยชน์เท่านั้น เช่น ผลไม้ ชีส โยเกิร์ตรสธรรมชาติ เพื่อให้ลูกมีภาวะโภชนาการที่ดี คุณแม่ควรนำเสนอแต่อาหารที่มีประโยชน์เท่านั้น นั่นแปลว่าในบ้าน ในตู้เย็นไม่ควรมีขนมที่ไร้คุณประโยชน์ เช่น ขนมถุง มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต ไอศกรีม ทอฟฟี่ น้ำอัดลม
ต้องให้ลูกได้เรียนรู้ว่าความหิวเป็นอย่างไร ห้ามญาติสนิทมิตรสหายให้ขนมด้วย เพราะอาจสงสารแล้วแอบให้ขนมจนลูกอิ่ม ต้องอธิบายให้เข้าใจตรงกันว่า ถ้าลูกอ้วนหรือน้ำหนักดีเพราะกินของหวานที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูงเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกในระยะยาว เป็นการสร้างนิสัยการกินที่ไม่ดีติดตัวไปตลอดชีวิต ทำให้ลูกอาจเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
ส่วนปัญหารับประทานยากมักเป็นแค่ช่วงหนึ่งในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พอโตขึ้นก็กินได้เอง ถ้าลูกต่อต้านโดยไม่ยอมเลยในช่วงแรก ก็ไม่ต้องตกใจ อย่าเพิ่งรีบร้อนตามใจลูก ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ก็จะดีขึ้น – ในช่วงนี้หากกังวลว่าลูกจะขาดสารอาหารอาจปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามดูภาวะการเจริญเติบโตว่ายังอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ – ไม่ต้องห่วง ถึงแม้น้ำหนักจะตกเกณฑ์ในช่วงแรก เพราะส่วนใหญ่ส่วนสูงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ คุณหมออาจสั่งวิตามินและธาตุเหล็กให้ทดแทนไปก่อน
ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น คุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีปัญหา ฟันผุจากการอมข้าวหรือไม่ ในทางกลับกัน หากลูกมีปัญหาฟันผุหรือเหงือกอักเสบอยู่ ก็ทำให้เคี้ยวข้าวลำบากได้ เช่นกัน
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด