“ของหนูนะ” เป็นคำพูดประจำตัวของเด็กวัยนี้ทุกคน ทั้งของตัวเอง หรือของแม่ ของพ่อ ของปู่ ของย่า ของตา ของยาย ฯลฯ ทุกอย่างเป็นของหนูได้หมด และเจ้าหนูก็พร้อมจะหอบของมากมายไปด้วยกันหมดในคราวเดียว
แม้นิสัยกักตุนของติดตัวจะเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคนเป็นเรื่องปกติ เพราะการมีคลังของเยอะๆ ช่วยสร้างความรู้สึกพึงพอใจและรู้สึกปลอดภัยให้พวกเขา แต่การสร้างคลังส่วนตัวด้วยของเล่น หนังสือ ของใช้ในบ้าน หรือขนมที่กินเหลือ ไม่ใช่แค่ความยุ่งเหยิงพะรุงพะรังที่เราไม่อยากให้เกิดเท่านั้น แต่หากปล่อยไปยามออกไปนอกบ้าน ลูกอาจไปหยิบขนมหรือลูกอมมาจากร้านค้าโดยที่เราไม่รู้
สิ่งที่คุณควรทำก็คือ
1. ช่วยหาที่เก็บ
ไม่ต้องหอบให้หนัก เช่น ให้กระเป๋าใบเล็กสำหรับใส่ของและสะพายได้ รวมถึงหาชั้นว่างๆ หรือตู้เก็บของในบ้านสักที่ให้ลูกได้เก็บของโดยอิสระ
2. หมั่นสำรวจความเรียบร้อยของที่เก็บ
คุณแม่ควรหาเวลาสำรวจความเรียบร้อยของสมบัติเหล่านั้น มีข้อแม้แค่ว่า ต้องทำตอนลูกหลับ สงครามย่อยจะได้ไม่เกิด
3. ของมีค่าในบ้าน
ต้องเก็บไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและห่างจากมือลูก รองเท้าหรือหวีเจ้าปัญหาก็เก็บใส่กล่องหรือวางในตู้เสื้อผ้า จะได้ไม่ล่อตา
4. ถ้าลูกไปเก็บของของคนอื่น
อาจมีปัญหาตามมา เช่น หยิบของจากบ้านข้างๆ ควรเตือนเขาด้วยความสุภาพและเข้าใจว่าอะไรที่เขาหยิบได้และอะไรที่ไม่ได้
การเล่นบทบาทสมมุติช่วยได้ค่ะ เช่น เล่นเป็นแอร์โฮสเตสกับลูกประจำ เริ่มต้นด้วยการตรวจกระเป๋าผู้โดยสาร (เกินหน้าที่จริงไปหน่อย ฮ่าๆ) “ผู้โดยสารกระเป๋าหนักไปนะคะ” “ของชิ้นนี้เอาขึ้นเครื่องไม่ได้นะคะ เป็นอันตราย” นอกจากเราจะสอนเรื่องศีลธรรมบางเรื่องได้แล้ว ยังตรวจดูว่าเขาแอบเก็บอะไรได้ด้วย เพราะถ้าขอดูตรงๆ ก็ไม่ได้ ขนาดแอบทำตอนหลับ แต่เขาตื่นมาก็รู้นะ บทบาทสมมุตินี่แหละ ได้ผลชัวร์ค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง