ประการที่สาม แล้วมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรมีพัฒนาการกี่ด้าน พระพุทธศาสนาท่านบอกว่า คนเรานั้นจะเป็นมุนษย์ที่สมบูรณ์จะต้องมีพัฒนาการอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่
1. มีพัฒนาการทางกาย
เด็กต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ต้องรู้จักใช้อวัยวะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายในการเสพ การบริโภคปัจจัยสี่อย่างมีสติ คือ ปฏิสัมพันธ์กับโลกของวัตถุอย่างนายของการเสพ ของการบริโภค
2. มีพัฒนาการทางศีลหรือพัฒนาการทางสังคม
เด็กต้องรู้จักครองตนอยู่ในสังคม ในฐานะที่เป็นพลเมืองดี มีวินัยในการดำรงชีวิต เป็นมนุษย์ที่อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เพราะคุณมีพฤติกรรมทางกายและทางวาจาที่ดีงามล้ำเลิศ
กล่าวคือ รู้จักเคารพกฎ กติกา มารยาท ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่สุด คือ เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ รู้จักให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ จากนั้นคือ มีศีลธรรมประจำใจ และขยายกว้างออกไปก็คือ เคารพกฎหมายของสังคมและดำรงชีวิตอยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อคนในสังคม ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่าง แหงนหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าก็ไม่อายดิน
3. มีพัฒนาการทางจิต
กล่าวคือ เด็กๆ ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาการทางจิตที่เราเรียกกันว่า จิตตภาวนา หรือการยกระดับคุณภาพจิต ให้จิตนั้นมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
- มีสุขภาพจิต กล่าวคือ ให้เขามีความสดชื่น มีความเบิกบาน มีความผ่องใส มีความสงบเป็นพื้นฐานของดวงจิต
- มีคุณภาพจิต กล่าวคือ มีคุณธรรมประจำใจ เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซื่อสัตย์ กตัญญู มีจิตสำนึกสาธารณะ
- มีสมรรถภาพจิต คือ มีความสามารถในการใช้ความคิดอย่างหลักแหลม รู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล รู้จักมีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถในการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง รอบด้าน และแหลมคม กระทั่งสูงสุดคือ สามารถเป็นนายของความคิดได้และรู้เท่ารู้ทันกระบวนการของความคิดจนกระทั่งว่า สามารถวางจิตอยู่เหนือความคิดได้
4. มีพัฒนาการทางปัญญา
คือ มีปัญญารู้ทั้งทางโลก มีปัญญารู้ทั้งทางธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า โลกก็ไม่ช้ำ ธรรมก็ไม่เสีย รู้จักการครองตน ครองคน ครองงาน ครองใจ และครองชีวิตอยู่ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามอย่างร่มเย็นและเป็นสุข และขณะเดียวกันก็มีปัญญาแหลมคมพอที่จะสลัดสิ่งซึ่งเป็นอุปสรรคปัญหาต่างๆ เช่น ยศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง และกามารมณ์ได้ จนกระทั่งรู้จักใช้สิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป็นเป้าหมายของชีวิต
สูงสุดของพัฒนาการทางปัญญาก็คือ สามารถใช้ปัญญาในการชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ สามารถเลื่อนสภาพจากบุคคลขึ้นมาเป็นอริยชน คือบุคคลที่เป็นพระอรหันต์ นั่นแหละคือพัฒนาการสูงสุดในทางปัญญา
ไม่ต้องถึงขั้นอริยชน แต่หากพัฒนาครบก็เป็นลูกที่พึงประสงค์เหมือนกัน
ถ้าเราสามารถพัฒนาเด็กๆ ของเราให้มีพัฒนาการทั้งสี่ประการ เขาก็จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถพัฒนาได้จนถึงขั้นสูงสุดคือเป็นอริยชน แต่คุณสมบัติของมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ไม่จำเป็นจะต้องได้มาตรฐานสูงสุดคือเป็นพระอรหันต์เหมือนที่พระพุทธศาสนาคาดหวังไว้ก็ได้ เพราะถ้าเด็กมีพัฒนาการได้ครบทั้งสี่ด้านที่กล่าวมา เขาก็จะมีคุณสมบัติ เป็นคนที่เก่ง ดี มีความสุข และมีอิสรภาพในตัวเองอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ มนุษย์ที่พึงประสงค์ในทัศนะของพระพุทธศาสนาเช่นกัน
เก่ง เช่น เก่งในการทำมาหากิน เก่งในการเล่นดนตรี เก่งในการเป็นศิลปิน เก่งในทางใดทางหนึ่ง
ดี หมายความว่า ขอให้เป็นพลเมืองดีก็ใช้ได้แล้ว
มีความสุข เช่น เขาได้ทำงานที่เขารัก เขามีความสุขทุกคืนวันก็ใช้ได้แล้ว
มีอิสรภาพในตัวเองอย่างสมบูรณ์ หมายถึง ในท้ายที่สุดขอให้เขามีอิสรภาพทางการเงิน มีอิสรภาพในการใช้ปัญญา อิสรภาพในการรู้จักคิดอย่างเป็นตัวของตัวเองก็ใช้ได้แล้ว
บทความโดย : พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี