3. จอมบงการ
√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ พฤติกรรมจอมบงการ หรือเจ้ากี้เจ้าการ บ่งชี้ว่าเด็กๆ กำลังพัฒนาทักษะในการเป็นผู้นำ ทว่าสมองส่วนที่ทำให้เขารู้จัก “คิดก่อนทำ” ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีส่วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เขามีพฤติกรรมดังกล่าว แต่พ่อแม่ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนตอนเด็กๆ เรียนชั้นประถม 2 ซึ่งตอนนั้นจะเข้าสู่พัฒนาการของการคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เข้าใจเรื่องนามธรรมมากขึ้น จึงมีการปรับตัวและพฤติกรรมเพื่อให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้
♥ ปรับแก้ได้ : ปล่อยให้เด็กๆ พยายามแก้ปัญหากันเองก่อน แต่ถ้าลูกยังคงวางอำนาจกับเพื่อนๆ คุณก็ควรจะช่วยโดยพยายามโน้มน้าวให้เปลี่ยนมาเล่นเกมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมอย่างเกมทายใจ หลังจากเล่นเสร็จ เมื่อคุณกับลูกอยู่ตามลำพัง ค่อยๆ สอนให้เขารู้จักพูดดีๆ กับเพื่อน หรือให้เขาใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลขึ้น
4. หูทวนลม
√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ เด็กๆ กำลังสร้างมิตรภาพกับเพื่อนๆ ตื่นตาตื่นใจกับทุกสิ่งที่เพื่อนๆ ทำ พูด กินและใส่ และยังไม่สามารถให้ความสนใจกับเพื่อนและพ่อแม่พร้อมๆ กัน แต่พอขึ้นชั้นประถม 1 เด็กๆ จะแบ่งความสนใจได้ดีขึ้น
♥ ปรับแก้ได้ : คุณคงไม่อยากแทรกแซงการสร้างมิตรภาพของลูก แต่บางครั้งเขาก็ต้องฟังคุณบ้าง คุณจึงควรจะลองใช้วิธีแปลกๆ เพื่อให้เขาสนใจอย่างร้องเพลงหรือใช้สำเนียงตลกๆ เวลาต้องการบอกให้เขาทำอะไร ควรบอกในระยะใกล้ๆ ลูก ไม่ใช่พูดจากอีกห้อง และควรจะใช้เสียงดังเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยซึ่งเขาต้องสนใจโดยด่วนเท่านั้น
5. เล่นแรงๆ กับเพื่อน
√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ เด็กๆ จะเล่นต่อสู้ได้ “ดี” ซึ่งหมายถึงไม่เล่นกับเพื่อนแรงๆ ต้องมีทักษะทางสังคมบางอย่าง เช่น สื่อสารกับเพื่อนๆ โดยไม่ต้องใช้คำพูด ดูสีหน้า ท่าทาง มีความสามารถในการกะ ประมาณได้ว่าควรเล่นแรงแค่ไหนและรู้จักหยุดเมื่อเพื่อนต้องการพัก
เด็กวัยอนุบาลอาจจะเล่นแรงเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะการควบคุมร่างกาย และการกะ ประมาณยังทำได้ไม่ดี แต่ถ้าได้ฝึกบ่อยๆ เขาก็จะรู้จักเล่นแบบมีขีดจำกัด การเล่นต่อสู้ยังช่วยสอนเรื่องการควบคุมอารมณ์ด้วย เพราะถ้าเพื่อนเล่นแรงๆ เด็กๆก็ต้องรู้จักสงบสติอารมณ์เองให้ได้
♥ ปรับแก้ได้ : ต้องให้ลูกกับเพื่อนๆ เล่นต่อสู้กันในบริเวณกว้างๆ ที่ปลอดภัยและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าเห็นว่ามีการเตะต่อยกันหรือเห็นสีหน้าหมดสนุกของเด็กๆ คุณก็ต้องเข้าไปห้าม และเวลาอยู่ที่บ้าน คุณก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักเล่นแบบมีขีดจำกัดด้วย อย่างถ้าเขาโถมเข้าใส่โดยไม่มีการเตือนให้รู้ตัว คุณก็ควรจะพูดว่า “เล่นแรงเกินไปแล้วนะ ลูกอาจทำอะไรแตกก็ได้ ถ้าจะเล่นแบบนี้ เราไปเล่นนอกบ้านกันดีกว่า”
จะเห็นได้ว่า ลูกอาจมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์มากมาย คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ถึงพฤติกรรมและอารมณ์เหล่านี้ของลูกตั้งแต่ต้นๆ และควรหาทางแก้ไข การแก้ไขในช่วงแรกๆ จะประสบผลสำเร็จได้ง่าย และทำให้ลูกเลิกพฤติกรรมนั้นได้ไปตลอด แต่ในทางกลับกัน ถ้าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดๆ ของลูกไม่ได้รับการแก้ไขในช่วงแรกๆ การจะแก้ไขในภายหลังมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะพฤติกรรมและอารมณ์ร้ายเหล่านี้ได้ติดตัวลูกไปแล้ว
อ่านต่อ “บทความดีๆน่าสนใจ” คลิก!
- สร้างวินัยเชิงบวก ให้ลูก ป้องกันลูกดื้อ ด้วยเทคนิคง่ายๆ จากหมอ!
- รับมือเจ้าหนูจำไมจอมดื้อ วัย 3-5 ขวบ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids