หยุด!! ทำร้ายลูกด้วยการใช้ ประโยคอันตราย หรือคำพูดทำร้ายจิตใจ..พ่อแม่เช็คด่วนก่อนจะสาย!!
เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากสร้างรอยแผลในใจลูกน้อย แต่บางครั้งด้วยคำพูดพลั้งปากไม่กี่คำจากอารมณ์แรงเพียงชั่วครู่
…คำพูดเหล่านี้ที่คุณเผลอพูดทำร้ายจิตใจลูกน้อยให้เขาเสียใจ บางครั้งเขาอาจร้องไห้ออกมา หรืออาจมีเด็กอีกหลายคนที่เก็บไปคิด บั่นทอนความเชื่อมั่นลึกๆให้ลดลงเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว เมื่อรู้เสียอย่างนี้แล้วคุณยังคิดจะทำร้ายจิตใจของเขาโดยไม่ตั้งใจอีกต่อไปหรือเปล่า?
ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า คำพูดแบบไหนกันที่ทิ่มแทงหัวใจดวงน้อยๆ…
เด็กโง่! / ทำไมโง่อย่างนี้
ก่อนจะโมโหจนหลุดประโยคนี้ เรื่องหนึ่งที่ลูกวัยเตาะแตะๆ คงอยากบอกพ่อแม่มากๆ คือ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ แม้จะเป็นเรื่องแสนง่าย หรือสิ่งนั้นคุณจะทำให้ดู หรือถึงขั้นจับมือเขาทำรอบแล้วรอบเล่าก็ตาม
- เช่น เทน้ำหก เหตุการณ์สุดคลาสิคของเด็กเตาะแตะ ที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเรื่องง่ายๆ ทำไมลูกถึงต้องเทให้หก เพราะการเทน้ำจากภาชนะหนึ่งไปภาชนะหนึ่ง สำหรับเด็กเล็ก ภาชนะใส่น้ำหนักแค่ไหนเขาถึงจะถือได้ เทได้ และเทแค่ไหนน้ำถึงจะไม่ล้นไม่หก ทั้งหมดนี้ต้องใช้การทำงานของกล้ามเนื้อมือและสายตาที่สัมพันธ์กัน ความสามารถกะประมาณ ฯลฯ คุณว่าการเทน้ำเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กเล็กๆ จริงหรือ
ดังนั้น การทดลองและผิดพลาดในเรื่องเดิมๆ ของลูกวัยนี้ ก็เพื่อต้องการทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ได้หมายความว่า เขาโง่ ลองเปลี่ยนประโยคใหม่ เป็น “แม่ว่าถ้าลูกทำแบบนี้จะดีกว่านะ เราลองมาทำด้วยกันไหม” กำลังใจ การทำให้ดู ทำด้วยกัน จะช่วยพัฒนาทักษะของลูกให้ก้าวหน้าได้ดีกว่าด้วย
หยุดร้องนะ ถ้าไม่หยุด เดี๋ยวแม่จะ…
เด็กในวัยนี้ทักษะด้านการสื่อสารยังไม่ดีมากนัก การร้องไห้จึงเป็นวิธีแรกและสำหรับหลายๆ คนก็เป็นวิธีเดียวที่เขาใช้สื่อสาร ดังนั้นถ้าคุณมองข้าม และบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของคุณ (ทำให้ลูกหยุดร้องไห้ให้ได้) ด้วยการตะคอก ตวาด หรือสั่งให้หยุดจึงไม่มีผลต่อความเข้าใจของลูกเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าลูกจะหยุดร้องก็เพราะเขากลัวท่าทีของคุณแม่เสียมากกว่า
- ครั้งต่อๆ ไป เมื่อลูกเกิดความคับข้องใจ เขาก็ยังร้องไห้งอแงเหมือนเดิม ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า “มากกว่า80 เปอร์เซ็นต์ของเด็ก 2 ขวบ ยังทำผิดเรื่องเดิมซ้ำๆ แม้จะเคยถูกลงโทษแล้วก็ตาม” การปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีในเด็กเล็กควรช่วยให้ลูกรู้จักความรู้สึกของตัวเอง และรู้วิธีบอกความต้องการของเขาได้จะดีกว่า
รอให้พ่อแกกลับบ้านก่อนเถอะ
การขู่ จัดอยู่ในกลุ่มวิธีที่ไม่ค่อยได้ผลกับเด็กๆ เช่นกัน เพราะในทางอ้อมคุณกำลังปล่อยผ่านพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าตัวเล็ก และเขาก็อาจจะลืมสิ่งที่ตัวเองได้ทำไปซะแล้ว (เด็กกับปลาทองไม่ต่างกันสักเท่าไหร่) แถมการยกคนในครอบครัวมาขู่จะทำให้ลูกมีทัศนคติลบกับคนนั้นอีกด้วย
- วิธีที่ได้ผลในการสอนลูกเล็กคือ ทำดีก็ชมทันที ทำไม่ดีก็ทำโทษหรือสอนกันเดี๋ยวนั้น โดยคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้น (ผู้รู้ถึงย้ำว่าพ่อแม่ควรอยู่ใกล้ชิดลูก เพื่อจะได้เห็นและตอบสนองกันทันทีนั่นเอง) ไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของคนอื่น เพราะไม่มีใครเข้าใจเรื่องราวหรือสถานการณ์ได้มากเท่าคุณแล้วละ
เร็วเข้า อืดอาดจริง
อยากให้ลูกวัยเตาะแตะใส่ถุงเท้า รองเท้าได้เอง หรือหยิบถุงเท้า รองเท้าถูกคู่ เป็นสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังได้และควรคาดหวัง แต่ไม่ใช่ภายในระยะเวลาจำกัดหรือชั่วโมงเร่งด่วนของคุณ ดังนั้นเรื่องที่พ่อแม่ควรเข้าใจใหม่คือ สนามฝึกกับสนามรบต้องแยกกัน ถ้าคุณต้องการฝึกก็ไม่ควรทำในเวลาเร่งรีบ แต่ถ้าจะฝึกในสถานการณ์จริงก็ต้องเผื่อเวลาให้ลูกด้วย
- ดังนั้นเวลาและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการฝึกฝนและเรียนรู้ของเด็กเล็กค่ะ อาการร้อนรน กอดอก เท้าเอว สลับกับการถอนหายใจหรือมองลูกด้วยสายตาตำหนิยามพ่อแม่เร่งรีบ ลูกมีแต่จะรู้สึกกดดัน และผิดพลาด สรุปฝึกก็ไม่ดี เอาจริงก็ไม่ได้
เยี่ยมไปเลย สุดยอด
ทำไมหรือ?? คำชมเชยชัดๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ที่จริงแล้วมันละเอียดอ่อนกว่านั้นค่ะ
นั่นคือ การชมเชยเป็นเรื่องดี แต่ถ้าลูกวาดรูปมาโชว์ ถอดรองเท้าเรียงเป็นคู่ ใส่ชุดนอนเอง หรือกระดกนมจนเกลี้ยงแก้ว แล้วคุณก็ชมลูกด้วยประโยคนี้ประโยคเดียว เขาจะแยกไม่ออกว่าอันไหนพ่อแม่ชมจริงหรือเป็นแค่คำพูดติดปากกันแน่ (หรือไม่ได้ชมจริงนั่นเอง)
- คำชมที่ทรงพลัง คือ ไม่ชมพร่ำเพรื่อ ชมจากใจ บอกความรู้สึกคุณ ชมที่พฤติกรรมเฉพาะเจาะจง เช่น ลูกดื่มน้ำหมดแก้วแล้วถือแก้วไปวางที่อ่างล้างจาน หรือเก็บของเล่นเข้าที่ “น่ารักมากลูก ถือแก้วใช้แล้วไปวางที่อ่างล้างจาน (หรือเก็บของเล่นเข้าที่) เป็นเด็กรู้หน้าที่ เป็นระเบียบ ชื่นใจแม่”
- ไม่ชมแต่คำว่า เยี่ยมมาก เก่งมาก หรือสวยมาก เพราะลูกก็อาจแยกไม่ออกเช่นกันว่าพ่อแม่ชมจริงหรือเปล่า มีคำมากมายที่บอกให้ลูกรู้ว่าคุณชมเขาจากใจ เช่น จะชมภาพที่ลูกวาด “ว้าว ลูกระบายสีเจ้าตูบเต็มตัวเลยต้องอดทนมากนะเนี่ย สีเดียวกับเจ้าตูบจากในนิทานที่เราอ่านด้วยกันเมื่อเช้าใช่ไหมจ๊ะ ช่างสังเกตนะลูกแม่ หรือจะชมที่เขารอแม่จนเสร็จงาน “เมื่อกี้ลูกเก่งมากจ้ะ ที่เล่นเงียบๆ คนเดียวรอจนกว่าแม่เสร็จงานได้ มาแม่หอมที” เป็นต้น
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids