หัวกระแทกของแข็ง – การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะถือเป็นประสบการณ์ในวัยเด็กทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นทารกที่ฝึกคลานจนตกจากที่นอน เด็กประถมที่ล้มจากการวิ่งเล่นกับเพื่อน ตลอดจนนักกีฬาวัยรุ่นที่วิ่งชนกับเพื่อนฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม หากลูกของคุณมีสุขภาพแข็งแรงก่อนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ไม่หมดสติ ไม่มีบาดแผลที่ศีรษะหรือใบหน้าและไม่มีอาการผิดปกติหลังจากนั้น อาจเป็นเพียงการกระแทกที่ศีรษะ ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้คือสังเกตอาการ ลูกของคุณอย่างใกล้ชิด
ลูกหัวโน หัวกระแทกของแข็ง ควรทำอย่างไร อาการแบบไหนต้องรีบพาไปหาหมอ?
สำหรับเด็กเล็ก พวกเขาขึ้นชื่อในเรื่องการเล่นสนุกสุดเหวี่ยงโดยไม่กลัวอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดได้จากการเล่นของพวกเขา ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กเล็กๆ มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะได้บ่อย ที่น่าเป็นห่วงคือ ศีรษะของเด็กมีขนาดใหญ่ตามสัดส่วนของร่างกาย ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อความเสียหายมากกว่าศีรษะของผู้ใหญ่
การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดปัญหาทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง ในแต่ละปีการบาดเจ็บที่ศีรษะในวัยเด็ก ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายพันคนต่อปี แม้ว่าร้อยละ 90 ของการบาดเจ็บที่ศีรษะในเด็กนั้นมักไม่ร้ายแรง แต่ก็มีเด็กหลายคนที่เสียชีวิตและอีกหลายคนต้องพบกับความทุพพลภาพถาวรจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ
ลักษณะของการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ เมื่อเด็ก หัวกระแทกของแข็ง
อาการบาดเจ็บที่ศีรษะในเด็ก คือ ผลกระทบหรือการบาดเจ็บบริเวณด้านนอกของศีรษะหรือใบหน้า เช่น หน้าผาก หนังศีรษะ กะโหลกศีรษะหรือแม้แต่สมอง โดยส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บที่ศีรษะของเด็กจากการถูกกระแทกด้วยของแข็งมักไม่รุนแรง เช่น อาจมีรอยฟกช้ำหรือแผลเปิดที่มีลักษณะเป็นแผลถลอกหรือแผลสด อย่างไรก็ตาม อาการบาดเจ็บที่ศีรษะของเด็กที่ร้ายแรงอาจรวมถึงกระแทกจนกระดูกกะโหลกศีรษะร้าว แตก บวม หรือมีเลือดออกภายใน เป็นต้น ซึ่งอาการบาดเจ็บที่ศีรษะแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ ต่อไปนี้
- การแตกร้าวของกะโหลกศีรษะ – การแตกหรือร้าวของกะโหลกศีรษะอาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำบนพื้นผิวของสมอง หากกะโหลกศีรษะเว้าแหว่งเข้าด้านใน ชิ้นส่วนของกระดูกที่หักจะถูกกดลงไปที่พื้นผิวของสมอง ซึ่งกรณีอาจต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที
- มีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมอง (Epidural hematoma) – หนึ่งในประเภทของการเลือดออกที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นภายในศีรษะอันเป็นผลมาจากการแตกร้าวของกะโหลกศีรษะ เกิดขึ้นได้เมื่อกระดูกที่แหลมคมทำความเสียหายต่อเส้นเลือดใหญ่บางจุดภายในกะโหลกศีรษะ เมื่อเส้นเลือดที่เสียหายมีเลือดออก กลุ่มของเลือดที่เรียกว่าห้อเลือดจะก่อตัวขึ้นในช่องว่างระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกสุดซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมสมอง หลอดเลือดที่แตกมักจะเป็นหลอดเลือดแดง และห้อจะขยายตัวอย่างรวดเร็วไปกดทับที่สมอง ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ชีวิตได้
- การมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) – มีเลือดออกระหว่างส่วนที่ปกคลุมของสมองและพื้นผิวของสมอง เกิดขึ้นเมื่ออาการบาดเจ็บที่ศีรษะทำความเสียหายต่อเส้นเลือดขนาดใหญ่ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองมักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ โดยอาการจะค่อยๆ แย่ลง เลือดออกประเภทนี้อาจนำไปสู่การบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของอาการบาดเจ็บที่ศีรษะของเด็ก
อาการบาดเจ็บที่ศีรษะในเด็กอาจเกิดจาก
- การหกล้มและอุบัติเหตุเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นในขณะที่ลูกของคุณกำลังวิ่งเล่นซน เช่น ล้มหัวกระแทกพื้น หรือ วิ่งหัวชนขอบโต๊ะ เป็นต้น
- อุบัติเหตุทางรถยนต์ นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะในเด็กในวัยนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการขับขี่อย่างปลอดภัยและการใช้คาร์ซีทอย่างเหมาะสมจึงมีความสำคัญมากกว่า
- ถูกทำร้ายร่างกาย น่าเศร้าที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการบาดเจ็บที่ศีรษะของเด็กวัยหัดเดิน แม้ว่าจะพบไม่บ่อยนัก อาจเป็นปัญหาเรื้อรังที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บที่ศีรษะซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้
นอกจากนี้ อุบัติเหตุบางอย่างมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การตกบันได การตกจากจักรยานโดยไม่สวมหมวกนิรภัย การตกจากพื้นสูง 3 ฟุตขึ้นไป และการเล่นกีฬาที่ต้องแข่งขันแบบมีการกระทบกระทั่ง
อาการบาดเจ็บจาก หัวกระแทกของแข็ง ที่ต้องระวัง
บางครั้งอาการบาดเจ็บที่ศีรษะของเด็กอาจรุนแรงและอาจนำไปสู่การกระทบกระเทือนทางสมอง มีเลือดออกในสมอง หรือ สมองบวม อาการบาดเจ็บที่ศีรษะอาจทำให้ ความจำ การตัดสินใจ การตอบสนอง การพูด และการนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป เด็กอาจมีอาการปวดหัวและไวต่อแสงและเสียงได้มากกว่าปกติ
หากลูกของคุณแสดงอาการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถูกกระแทกที่ศรีษะ ให้นำเด็กออกจากจุดเกิดเหตุและโทรแจ้งกู้ภัย หรือ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แนะนำให้พาบุตรหลานไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้
- ความซีดผิดปกติที่นานกว่าหนึ่งชั่วโมง
- อาการการเสียวซ่าที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
- อาการชาหรืออ่อนแรงของแขนหรือขา
- เสียการทรงตัว หรือเดินได้อย่างยากลำบาก
- มีอาการชัก
- วิงเวียนศีรษะซ้ำๆ เป็นๆ หายๆ
- คลื่นไส้หรืออาเจียนมากกว่าสองหรือสามครั้ง
- หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน
- พูดไม่ชัด
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือรูม่านตาทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน
- จดจำใบหน้าคนที่คุ้นเคยไม่ได้
- ปวดหัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาการแย่ลง
- ง่วงนอนมาก หรือ ตื่นยากผิดปกติ
- หงุดหงิด สับสน หรือพฤติกรรมผิดปกติอื่นๆ
นอกจากนี้ อาการบาดเจ็บที่ศีรษะอาจเกิดขึ้นทันที หรือ ค่อยๆ เกิดขึ้นภายในเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน อาการและอาการแสดงของอาการบาดเจ็บที่ศีรษะที่ควรระวัง ยังอาจรวมถึงอาการต่างๆ ต่อไปนี้
- รอยบุบที่มองเห็นได้จากการกระแทก
- เด็กร้องไห้มากผิดปกติ
- ปวดหัว (เด็กอาจร้องไห้ และอาจจับหรือถูหัวตัวเอง)
- รอยคล้ำสีดำและน้ำเงินใต้ตา หรือหลังใบหู
- พฤติกรรมก้าวร้าวหรือไร้เหตุผล
- ไม่ยอมกินอาหาร
- อาการชาหรืออ่อนแรงตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- เด็กไม่ตอบสนอง
- มีอาการชัก
- มีเลือดออกหรือของเหลวไหลออกจากหูหรือจมูก
- หมดสติ
ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณของอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศรีษะ และอาจเกิดขึ้นได้หลายชั่วโมงหลังจากการถูกกระแทกที่ศรีษะ นั่นเป็นเหตุผลที่การเฝ้าดูลูกของคุณอย่างใกล้ชิดในช่วง 24 ถึง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
บางครั้งอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอาจนำไปสู่การกระทบกระเทือน อาการบาดเจ็บที่สมองเล็กน้อยที่เกิดจากการกระแทก ซึ่งอาการต่างๆ ได้แก่ อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหนื่อยล้า และความจำแย่ลง ซึ่งสามารถคงอยู่ได้ตั้งแต่ 15 นาทีไปจนถึงสองสามสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุ
เวลาในการฟื้นตัวของเด็กอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะที่คงอยู่ได้นานหลังจากเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาของเด็ก อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ถึง 10 วันในการกลับมาเป็นปกติหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หากลูกของคุณถูกกระทบกระเทือนที่ศรีษะ การรักษาภาวะสมองกระทบกระเทือนในระยะแรกที่ดีที่สุดคือการให้ลูกของคุณพักผ่อนจากกิจกรรมทางร่างกายและจิตใจสักสองสามวันแล้วค่อยกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ
อ่านต่อ…ลูกหัวโน หัวกระแทกของแข็ง ควรทำอย่างไร อาการแบบไหนต้องรีบพาไปหาหมอ? คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่