ลูกซนมาก พ่อแม่ต้องกลุ้มใจแย่มีคำจำกัดความหลากหลายเมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงวัย 1 -3 ขวบ วัยสำรวจโลก วัยเตาะแตะ วัยซน วัยต่อต้าน แม้กระทั่ง วัยเสี่ยง เพราะนี่คือธรรมชาติแห่งวัยแท้ๆ ทีเดียว ลูกกำลังพัฒนาความเข้มแข็งเฉลียวฉลาด เขาจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและความอยากรู้อยากเห็น คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยนี้ โดยมากก็เห็นด้วยกับทุกคำนิยามที่ว่ามา! เพราะภาพพฤติกรรมน่าเป็นห่วง ชวนเจ็บตัว เป็นอันตรายของบรรดาลูกน้อยลอยมาตรงหน้ากันเลย
คงไม่มากไป หากจะขอว่า อย่าเพิ่งรำคาญ เครียด หรือโกรธลูกเลยนะครับ เพราะนี่คือธรรมชาติแห่งวัยแท้ๆ ทีเดียว แต่ควรดีใจด้วยซ้ำไปครับ ว่าลูกกำลังพัฒนาความเข้มแข็งเฉลียวฉลาด เขาจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและความอยากรู้อยากเห็น
หากพ่อแม่อย่างพวกเราเข้าอกเข้าใจและรู้ “วิธี”อยู่กับนักสำรวจน้อยอย่างเหมาะสมไว้แต่เนิ่นๆ คุณจะปล่อยให้ลูกน้อยได้พัฒนาทั้งกายและใจ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัยจากอุบัติเหตุทั้งหลายได้ด้วยครับ
ลูกซนมาก เข้าอกเข้าใจ ธรรมชาติแท้ๆ
“นักสำรวจ No limit”
ในความรู้สึกของหนูน้อยวัย 1-3 ขวบนั้น สิ่งต่างๆ รอบตัวล้วนแล้วแต่เป็น “โลกใหม่” ที่ช่างน่าตื่นเต้น ไปซะทั้งหมด! โดยเฉพาะในวัย 1-2 ขวบ ที่ทักษะการเดินจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเป็นแรงส่งให้เด็กน้อยเคลื่อนตัวเข้าไปทุกๆ ที่เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นตามวัย และพร้อมสัมผัสทุกสิ่งที่เห็น จึงเป็นที่มาของฉายา “วัยสำรวจโลก”
แต่ด้วยความเป็นนักสำรวจ ที่เข้าถึงทุกที่แบบไม่รีรอ ไม่เหลียวหน้าดูหลัง เมื่อไปถึงจุดเป้าหมายแล้ว เขาก็พร้อมจับต้องสัมผัสทุกสิ่งตรงหน้า จึงเป็นที่มาให้วัยนี้มีโอกาสเจ็บตัวจากอุบัติเหตุ ได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
“2 ขวบขึ้น จอมต่อต้าน+นักสำรวจบ้าพลัง”
เมื่อเข้าสู่วัยสองขวบ เขาจะร่าเริง สนุกสนานกับการวิ่งไปโน่นไปนี่อย่างอิสระเสรี เพราะวิ่งได้แล้ว และจะชอบมากถ้าได้เล่นวิ่งหนีวิ่งไล่ และเป็นวัยทดสอบพลัง เวลาเล่นก็ชอบใช้พลังสูงสุด วิ่งเร็วๆ ขว้างแรงๆ ปีนอีกปีนอีก เอาสูงๆ ความอยากรู้อยากเห็นของวัยนี้จะยิ่งมากขึ้น จึงมีอาการห้ามไม่ฟัง ห้ามแล้วทำเลยต่อหน้าต่อตาให้พวกเราพ่อแม่มีอารมณ์กรุ่นๆ ได้ง่ายๆ
“ห้ามทุกฝีก้าว ไม่ใช่วิธี”
เมื่อความต้องการรู้จักทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เป็นธรรมชาติแท้ๆ เป็นพัฒนาการตามวัย การป้องกันระมัดระวังให้ลูกรักปลอดภัย จึงไม่ใช่การคอยดุ ขู่หรือคอยห้ามอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ให้วิ่ง ไม่ให้เล่น หรือให้นั่งนิ่งๆ เป็น “เด็กสต๊าฟ” กลับจะเป็นผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของลูกน้อยมากกว่า
การดูแลลูกวัยนี้อย่างใกล้ชิดย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ลูกได้เล่น ได้ค้นคว้า ได้ซนก็เป็นเรื่องที่จำเป็น และควรส่งเสริมให้เล่น ให้ออกกำลังกาย ภายใต้การดูแลอย่างไม่ให้คลาดสายตาของพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ดูแล
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตย AMARIN Baby & Kids