เมื่อหนูน้อยอายุ 2 ขวบแล้ว และเปลี่ยนจากนั่งกินข้าวบนเก้าอี้สูงมาร่วมโต๊ะอาหารเดียวกับพ่อแม่ แต่แล้วก็ไม่ค่อยยอมนั่งกินอาหารให้จบมื้อง่ายๆ กินได้คำสองคำ แล้วก็ลุกเดินไปทั่ว แม่ก็อ่อนใจ อดสงสัยไม่ได้ วัยเตาะแตะนี่ จะนั่งนิ่งๆ กินข้าวดีๆ บ้างได้ไหมนะ
แซนดี้ พร็อกเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแม่และเด็ก มหาวิทยาลัยแคนซัสสเตท เมืองแมนฮัตตัน บอกว่า เด็กวัยนี้สนใจอะไรก็ได้ช่วงสั้นๆ แถมชอบสำรวจ ซอกแซกไปทั่ว จะหวังให้ลูกอยู่กับที่ กินให้จบมื้อรวดเดียวก็ยากน่ะสิ จะให้ดี ลดความหวังลงมา แค่ให้เขานั่งติดที่ได้นานขึ้นกว่าเดิมสักครู่ โดยใช้วิธีช่วยเหล่านี้ จะได้สบายใจกันทุกฝ่ายดีกว่า
1. ให้กินตามกำลังที่เขาจะกินได้
โดยกะดูจากปริมาณและเวลาที่เขามีใจให้กับการกินสัก 2 – 3 มื้อ เพียงเท่านี้ คุณก็พอประเมินได้แล้วว่า กำลังของลูกคุณเป็นอย่างไร เขาชอบอะไร และมากน้อยแค่ไหน
2. เรียกรวมพล
เมื่ออาหารถึงโต๊ะแล้ว เมื่อรู้อยู่แล้วว่าเจ้าตัวเล็กสนใจอะไรไม่ได้นาน การรีบเรียกลูกมานั่งรอ ย่อมทำให้เขาหมดความสนใจในมื้ออาหารไปเร็วกว่าที่ควรเปล่าๆ อาหารพร้อมจริงแล้ว ค่อยเรียกรวมพลจะได้ผลกว่า
3. จัดโต๊ะให้ดึงดูด
คุณแม่ช่างสรรหา จะเลือกอุปกรณ์น่ารักๆ พวกจาน ชาม ช้อนส้อม ฯลฯ มาเป็นตัวช่วยบ้างก็ได้
4. อย่าฝืนธรรมชาติ
ในเมื่ออยู่นิ่งนานๆ ไม่ได้ ก็จัดพื้นที่สักมุมในครัวหรือห้องกินข้าว ให้เป็นมุมเล่นเงียบๆ ของเขาไปเลย วิธีนี้ลูกจะได้เห็นว่าการกินอาหารในครอบครัวเป็นเรื่องสนุก และคุณแม่ยังมีความสุขกับอาหารมื้อนั้นได้อย่างเป็นอิสระด้วย
5. ลุกเมื่อไร แปลว่าอิ่มแล้วนะ
ถ้าลูกลุกบ่อยมาก วิธีหนึ่งที่น่าลอง (แต่คุณต้องใจแข็งสักหน่อยนะ) คือ พอเขาลุกจากโต๊ะ คุณก็เก็บอาหาร โดยไม่ต้องดุว่าอะไรเขา การทำอย่างนี้เป็นสัญลักษณ์ว่า เมื่อเขาลุกจากโต๊ะ แปลว่ามื้อนั้นจบแล้ว และเขาจะไม่ได้กินอาหารต่อจนกว่าจะมื้อถัดไป
ถ้ามื้อไหนสังเกตว่าลูกกินน้อยไป และห่วงว่าเขาจะหิว อาจจัดอาหารว่างที่มีประโยชน์ให้ระหว่างวัน โดยให้เป็นเวลาประจำ ไม่พร่ำเพรื่อ นิสัยการกินที่ดีก็ยังอยู่ด้วย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง