คุณเป็นแม่ที่รู้ใจลูกไปซะทุกเรื่องหรือเปล่า? รู้ไหม..นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาลูกพูดช้า ไม่พูด แต่ไม่ต้องกังวลเรามี วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด มาฝากกัน
10 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด เมื่อลูกพูดช้าเพราะแม่รู้ใจเกินไป!!
ลูกไม่ยอมพูดทำไงดี ปัญหากลุ้มใจของพ่อแม่หลาย ๆ คนที่มีลูกในช่วงวัย 1.6 ปีขึ้นไป วัยที่ลูกเริ่มสื่อสาร พูดจาได้มีความหมาย เข้าใจภาษามากขึ้น แต่ทำไมลูกเราถึงยังไม่ยอมพูดเสียทีล่ะ สรุปแล้วลูกจะสามารถพูดสื่อสารได้เมื่อไหร่กันแน่นะ
เมื่อใดเด็กจึงจะเริ่มพูด??
การพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ก็จะเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ตั้งแต่เด็กส่งเสียงร้องไห้
ประมาณ 2-3 เดือน ก็จะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ ก็จะเหมือนจะเป็นการพูดคุยกับคุณแม่ ก็จะพัฒนาเรื่อย มา จนประมาณ 5-6 เดือน เด็กก็จะเริ่มเล่นน้ำลายเป่าปาก ส่งเสียงจากลำคอ ในที่สุดก็จะพัฒนามาเป็นคำพูดที่มีความหมาย โดยมากก็จะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 เดือน – 15 เดือน หรือ เฉลี่ยประมาณ 1 ขวบ ก็จะพูดเป็นคำที่มีความหมายซึ่งเด็กจะได้รับการกระตุ้นให้พูดหรือเปิดโอกาสไม่มีการเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่ ในที่สุดคำศัพท์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 2 ขวบ ก็จะเริ่มพูดคำที่มีความหมาย 2 คำ ติดกัน เป็นวลีสั้น ๆ ไปไหน ไม่เอา แล้วก็จะเริ่มขึ้นเป็นประโยคยาว ๆ ได้ประมาณ 3-4 ขวบอย่างไรถึงจะเรียกว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องการพูด
โดยทั่วไป เราถือว่าเมื่ออายุ 2 ขวบแล้ว ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้เลย หรือ พูดได้แค่คำศัพท์คำเดียว หรือสื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ ก็ถือว่าผิดปกติแน่นอน แต่ก็ไม่ควรรอจน 2 ขวบ แล้วค่อยมาปรึกษาแพทย์ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นถึงพัฒนาการทางภาษาไม่เป็นไปตามปกติหรือไม่เหมือนเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ก็ควรจะไปขอคำปรึกษากับแพทย์ได้ ในการที่พ่อแม่จะดูว่าเด็กปกติหรือไม่ นอกจากสังเกตการพูดสื่อสารให้เราเข้าใจได้หรือไม่ เราสามารถดูจากการพูดหรือสั่ง ว่าเด็กเข้าใจหรือไม่ สามารถทำตามคำสั่งได้หรือไม่ ซึ่ง เด็กอายุ 1 ขวบนั้น สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เข้าใจได้ว่าพ่อแม่พูดว่าอะไร เด็กมีความสนใจหรือไม่ เรียกชื่อแล้ว เด็กหันมารับทราบ หรือตอบรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถนำมาประกอบกันดูว่า เด็กผิดปกติหรือไม่โดยการพัฒนาทางภาษา นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทาง คือ การพูด และการรับฟัง ซึ่งจะต้องพัฒนาการควบคู่กันไปข้อมูลอ้างอิงจากผศ.นพ.วิฐารณบุญสิทธิ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การพูดเป็นประตูแรกในการนำลูกไปสู่การสร้างศักยภาพ ความฉลาดเข้าสังคม(SQ) หากคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วว่าลูกมิได้มีความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องการพูดจากความบกพร่องของร่างกายแล้ว แต่ทำไมเขาถึงยังไม่ยอมพูดสื่อสารรู้เรื่องเสียทีล่ะ เราลองมาย้อนดูกันดีไหมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกไม่ยอมพูด หรือพูดช้านั้น อาจมาจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่เองก็เป็นได้
เช็กลิส…คุณเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า จากการเลี้ยงดูหรือไม่??
- คุณเป็นพ่อแม่ ที่รู้ใจลูกมากเกินไปหรือไม่?
พ่อแม่ที่รู้ใจมากจนเกินไป คือ พ่อแม่ที่เข้าใจว่าลูกต้องการอะไร แล้วเราเข้าไปตอบสนองเขาทันที ทำให้ลูกทุกอย่าง โดยไม่ต้องให้เขาเอ่ยวาจาใด ๆ เช่น ลูกแค่มองของที่อยากได้ พ่อแม่ก็นำมาให้ หรือ แค่ส่งเสียงร้องหน่อยเดียวเราก็ยื่นให้ทันที ลูกจึงเรียนรู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องพูดสื่อสารบอกความต้องการใด ๆ พ่อแม่ก็หยิบยื่นมาให้เสร็จสรรพอยู่แล้ว เพราะระหว่างเขากับพ่อแม่แค่มองตาก็รู้ใจกันแล้ว ฟังดูเหมือนเป็นสิ่งดี น่าซึ้งใจกันใช่ไหม แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมว่าเรื่องเพียงเท่านี้ แต่มันแฝงปัญหาที่จะตามมาให้แก่พฤติกรรมของลูกอีกมากมายเลยทีเดียว
- คุณเป็นพ่อแม่ที่เน้นการสื่อสารทางเดียวเป็นหลัก หรือไม่?
การสื่อสารทางเดียวเป็นอย่างไร
เป็นการส่งข่าวสารหรือการสื่อความหมายไปยังผู้รับแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้รับไม่สามารถมีการตอบสนองในทันที (immediate response) ให้ผู้ส่งทราบได้ การสื่อสารในรูปแบบนี้จึงเป็นการที่ผู้รับไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ทันที จึงมักเป็นการสื่อสารโดยอาศัยสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น ดังนั้นการที่พ่อแม่เลี้ยงลูกโดยให้นั่งดูทีวี หรือเล่นสมาร์ทโฟน ดูยูทูป จึงนับว่าเด็กได้รับการสื่อสารทางเดียว ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลูกขาดทักษะด้านการพูด ขาดทักษะในการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงมักเห็นได้บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องลูกพูดช้า ไม่พูด หรือพูดไม่เป็นภาษา (ภาษาต่างดาว) ซึ่งความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้ผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความที่ลูกไม่ได้พูด ไม่ได้สื่อสารกับผู้อื่น ลูกก็จะขาดการเรียนรู้ในเรื่องคำศัพท์ที่เป็นวัยที่เขาจะต้องเข้าใจ และจดจำ ขาดการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจถึงความรู้สึกของตนเอง เพราะถึงแม้เขาพูดไปก็ไร้คนฟังเขาอยู่ดี
- คุณเป็นพ่อแม่ที่เร่งลูกในสิ่งที่เขายังไม่ถึงวัยที่จะเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ หรือไม่?
บางครอบครัวต้องการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาที่สอง ที่สาม เสียตั้งแต่ยังเด็ก จึงหาพี่เลี้ยงชาวต่างชาติมาให้ลูกเพื่อให้เขาได้ซึมซับ แต่หากลูกยังไม่พร้อมไม่ว่าจะด้วยวัยที่ยังไม่เหมาะที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ หรือด้วยพื้นฐานนิสัยของเด็กเอง ทำให้ลูกเกิดการชะงักงันในพัฒนาการได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องประเมินให้ได้ก่อนที่จะเพิ่มภาระงานการเรียนรู้ให้แก่ลูกในวัยเด็กเล็กนั้น คือ ลูกพร้อมเพียงพอหรือยังที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เพราะไม่ว่าการเรียนรู้ใด ๆ หากเขายังไม่พร้อมก็คงไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ หรืออาจจะก่อให้เกิดปัญหาไปอีกเสียด้วย
- คุณเป็นพ่อแม่ที่พูดกับลูกทุกวัน แต่พูดอยู่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่?
พ่อแม่หลาย ๆ คนอาจเกิดคำแย้งในใจว่า ฉันพูดกับลูกทุกวันอยู่แล้วนี่นา แต่ทำไมลูกก็ยังคงไม่พูด พูดช้าอยู่ดี แต่ลองมาทบทวนดูดี ๆ ว่าเป็นการพูดคุยแบบ พ่อแม่พูดเพียงฝ่ายเดียวใช่หรือไม่ ด้วยเพราะเราเข้าใจว่าเขายังไม่สามารถพูดได้ จึงมักไม่ได้ตั้งคำถาม หรือรอฟังคำตอบของลูก เช่น พูดกับลูกแบบคำสั่งให้เขาทำตาม หรือเพียงแค่ทักทายเท่านั้น เป็นต้น
- คุณเป็นพ่อแม่ที่เน้นกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อ มากกว่าพัฒนาทักษะด้านภาษาหรือไม่?
การปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น ปีนป่ายย่อมเป็นสิ่งที่ดีกับพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กวัยนี้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ชอบวิ่งเล่น พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก มักจะสนใจในการพัฒนาทักษะด้านภาษาน้อย เพราะมักใช้เวลาส่วนมากไปกับการวิ่งเล่น ไม่เหลือโอกาสที่เด็กจะได้พูดคุยสื่อสารกับคนอื่น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงกว่าวัยจึงมีพัฒนาการด้านภาษาที่ช้า
10 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ให้ลูกพูดเก่งได้ไม่ยาก
จากเช็กลิสข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงลูกแบบไหนนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ลูกในวัยฝึกพูด พูดได้เร็ว หรือช้า ดังนั้นพ่อแม่จึงควรใส่ใจในการฝึกลูก ให้เขาได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านการพูด ก็จะเป็นการช่วยแก้ปัญหา และกระตุ้นให้ลูกพูดได้ สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น
1. พูดซ้ำ ๆ พูดบอกชื่อทุกอย่างในสิ่งที่ลูกจับ หรือสนใจ
วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้น เพื่อให้เขาได้มีคลังคำศัพท์เก็บไว้ในการรับรู้เพื่อที่จะนำมาใช้ในครั้งต่อ ๆ ไป นั่นคือ การพูดถึงสิ่งที่ลูกต้องการ หรือเล่นอยู่ซ้ำ ๆ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ เช่น เมื่อลูกต้องการดื่มน้ำ พ่อแม่อาจถามว่าอยากได้อะไรจ๊ะ น้ำใช่ไหม นี่จ๊ะ “น้ำ น้ำ น้ำ” การพูดซ้ำ ๆ เพื่อเป็นการชี้ให้เขาสนใจว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร และจดจำได้ง่ายขึ้น เมื่อลูกมีคลังคำศัพท์มาก โอกาสที่เขาจะพูดสื่อสารก็มีมากตาม
2. อ่านนิทานให้ลูกฟัง แบบสื่อสารสองทาง
การอ่านนิทานเป็นการเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับลูกได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากหนังสือนิทานส่วนใหญ่มักจะใช้คำซ้ำ ๆ หรือเน้นคำเพียงไม่กี่คำเพื่อให้เด็กในวัยนี้เข้าใจได้ง่าย แต่หากพ่อแม่ต้องการกระตุ้นให้ลูกพูด นอกจากการอ่านนิทานให้ลูกฟังเพียงอย่างเดียวแล้ว เรายังสามารถใช้นิทานในการตั้งคำถามกระตุ้นให้ลูกตอบได้อีกด้วย เช่น อุ๊ย! พี่กระต่ายเขาถืออะไรไว้ในมือนะลูก แม้ในครั้งแรกลูกอาจตอบไม่ได้ แต่เมื่อพ่อแม่สอนคำศัพท์นั้น ๆ เวลาอ่านนิทานในครั้งต่อ ๆ ไป ลูกก็จะสามารถเรียนรู้ และพูดออกมาได้เอง(โดยธรรมชาติของเด็กชอบฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำ ๆ อยู่แล้ว)
3. ร้องเพลงด้วยกัน
เพลงสนุก ๆ กับเด็กเป็นของคู่กันไม่แพ้นิทานเลย ดังนั้นพ่อแม่สามารถชวนลูกมาร้องเพลงโปรดด้วยกัน ก็จะช่วยฝึกให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ แล้วยังได้ฝึกการออกเสียงของคำนั้น ๆ ในเพลงได้อีกด้วย
4. ยืดเสียงสระให้ยาว ช่วยลูกเข้าใจมากขึ้น
การวิจัยของสหรัฐอเมริกาเผยว่า การพูดกับเด็กด้วยการยืดเสียงสระให้ยาว จะช่วยฝึกให้ลูกพูดได้ดี เพราะเขาจะเข้าใจคำ ๆ นั้นได้ดีมากขึ้น เช่น โนมมม บอลลลล เป็นต้น
5. พูดกับลูกบ่อย ๆ รอคอยเวลาเขาพยายามพูด
การได้พูดกับลูกบ่อย ๆ ย่อมเป็นการฝึกให้เขาพูดอยู่แล้ว แต่ทางที่ดีควรให้เวลาเมื่อลูกพยายามจะพูดด้วย เพราะหากพ่อแม่ตัดบทเวลาลูกพยายามพูด ด้วยการพูดแทนให้เลย ก็ทำให้ลูกไม่ได้ฝึกการใช้ภาษาด้วยตัวเองเลย
6. ใช้โทนเสียงที่แตกต่างบ้างดึงดูดความสนใจ
การพูดมีหลากหลายแบบ หากเราลองใช้โทนเสียงขึ้นลง หลากหลาย คล้าย ๆ กับน้ำเสียงเวลาเราเล่านิทาน ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจลูกได้ดี
7. ฝึกลูกด้วยการเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ
การเรียกชื่อลูกก่อนการพูดประโยคต่าง ๆ พร้อมทั้งสบตาเขาเวลาพูด เป็นการดึงความสนใจให้ลูกหันมาฟัง และจะได้เรียนรู้ทักษะในการพูดจากพ่อแม่
8. ใช้ความสงสัยของลูกให้เป็นประโยชน์
นักวิจัยเผยว่าถ้าเด็กสนใจอะไร พวกเขาจะอยากเรียนรู้ และสงสัยว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรียกว่าอย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่จะสอนให้เขาพูดตาม
9. เล่นกับเด็กด้วยกัน
การให้ลูกได้ออกไปเล่นกับเด็กอื่นบ้าง ก็เหมือนกับการเข้าสังคมของผู้ใหญ่ การพบปะต้องมีการโต้ตอบ สื่อสารกัน ก็จะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกทักษะการพูด การฟัง การสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายเป็นเด็กด้วยกันที่ไม่สามารถเดาใจ หรือรู้ใจได้เหมือนผู้ใหญ่
10. ผลัดกันพูด
สำหรับบางบ้านที่พ่อแม่ก็เป็นนักพูดตัวยงคนหนึ่ง ควรจะระวังในการเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดบ้าง เพราะการที่เราพูดเก่งอาจทำให้ลืมไปว่าเรายังไม่ได้หยุดรอฟังลูกพูดเลย หรืออาจแย่งลูกพูดเสียด้วยซ้ำไป การผลัดกันพูด หรือคอยตั้งคำถามปลายเปิดกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกพูดก็จะช่วยได้ดี
สาเหตุการที่ลูกพูดช้า จากการเลี้ยงดู เป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูลูกจากความเคยชิน ให้มาเป็นการกระตุ้นให้ลูกได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการพูด ด้วยวิธีการง่าย ๆ จากกิจวัตรประจำวันรอบตัวเพียงเท่านี้ก็สามารถแก้ไขปัญหากลุ้มใจของเราไปได้ง่าย ๆ แค่ เปลี่ยนพฤติกรรม
ข้อมูลอ้างอิงจาก today.line.me/WELL KIDS
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
4 กิจกรรมสนุก ชวนลูกเล่นกลางแจ้ง กระตุ้นพัฒนาการ เสริมความคิดสร้างสรรค์
ให้ลูกดูมือถือ แท็บเล็ต โทรทัศน์ ตอนกินข้าวช่วยให้กินง่ายจริงหรือ?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่