วิธีบอกรักลูก อยากให้ลูกรู้ว่ารัก พ่อแม่ต้องทำยังไง? ตามมาดูคำแนะนำวิธี แสดงความรักกับลูก แสนง่าย เพื่อให้ลูกรับรู้ได้ถึง “ความรักที่พ่อแม่มอบให้” แม้ไม่พูดคำว่ารัก
4 วิธีบอกรักลูก ให้ลูกรับรู้ได้ แม้ไม่พูดคำว่ารัก
แน่นอนว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่รักลูก แต่ก็ไม่ใช่ลูกทุกคน ที่จะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่รักเขา หรือแบบนี้คือ วิธีบอกรักลูก ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่รัก และเป็นห่วงลูกสุดหัวใจ แต่ทำไมความรักและความหวังดีนั้น กลับส่งไปไม่ถึงลูก?? บางครั้งเจตนาจะสอนลูก แต่ลูกกลับต่อต้าน หาว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือบางครั้งที่พ่อแม่หวังดีกับลูก แต่ลูกกลับไม่ชอบใจ หาว่าจุ้นจ้านเกินไป การเป็นห่วงลูก กลับทำให้ลูกรำคาญใจ หาว่าพ่อแม่จู้จี้จุกจิก
ที่เป็นเช่นนั้น…ก็เพราะว่าการสื่อสารของพ่อแม่กับลูก ส่วนใหญ่เน้นการจัดการลูกเรื่องกิจวัตรประจำวัน มากกว่าเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูก
หากตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอนตอนกลางคืน พ่อแม่ให้ความสำคัญลูกแต่เรื่อง กินอิ่ม นอนหลับ ทำวสะอาด การบ้านต้องเสร็จ เล่นปลอดภัยแล้ว ก็เท่ากับว่าเวลาส่วนใหญ่ จะหมดไปกับการสั่ง จัดการ ตรวจตรา ดูแลความเรียบร้อยของลูก ส่วนเวลาในการพูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ รวมทั้งการรับฟังความรู้สึก และความต้องการของลูก ก็จะถูกบั่นทอนลดน้อยลงไป จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ว่าทำไมลูกถึงต่อต้าน รำคาญ เครียด และไม่อยากให้ความร่วมมือ
ที่สำคัญ วิธีบอกรักลูก หากพ่อแม่สื่อสารกับลูกที่เต็มไปด้วยคำสั่ง คำบ่น คำขู่ คำต่อว่า หรือว่าการลงโทษด้วยแล้ว ไม่ว่าเราจะรัก หวังดี และห่วงใยลูกขนาดไหน ก็ยากที่ลูกจะเข้าใจถึงความรัก ความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ … ดังนั้นทีมแม่ ABK จึงมีบทความเลี้ยงลูกด้วยวินัยเชิงบวก มาฝาก กับ วิธีบอกรักลูก วิธีการสื่อสารที่สามารถสื่อความรัก ความหวังดี ไปให้ถึงลูกได้ดังนี้ค่ะ
1. เช็คอินด้วยการกอด
การให้ความสำคัญลูกด้วยการกอดลูกในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด ให้การกอดเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เช้าเมื่อตื่นนอนสิ่งแรกที่ทำคือกอด ก่อนออกจากบ้านก็กอด เมื่อกลับมาเจอกันก็กอด ก่อนเข้านอนก็กอด หรือนั่งอยู่ด้วยกันสักพักก็เดินเข้าไปกอดได้อีกค่ะ
เหมือนกับว่าเวลาเราไปที่ไหนแล้วเรากดเช็คอินคนอื่นก็จะรับรู้ว่าเราอยู่ที่ไหนเมื่ออยู่กับลูกก็เช่นกันเดินไปเช็คอินกับลูกด้วยการกอดบ้างลูกก็จะรับรู้ว่าทั้งตัวและหัวใจของคุณพ่อคุณแม่กำลังอยู่กับเขา
ทุกครั้งที่กอดลูก นอกจากลูกจะรู้สึกได้ถึงความรักความสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มีให้แล้วความรู้สึกดีๆ นี้ยังถูกสะสมเป็นแรงใจให้ลูกสามารถจัดการความเครียดความคับข้องใจภายในตัวเองได้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ และคุณครูได้ป้องกันพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจที่ไม่เหมาะสมได้กล้าที่จะเรียนรู้ลองผิดลองถูก และกล้าออกเผชิญโลกกว้างได้อย่างมั่นใจอีกด้วย
2. “หัวเราะ” ก่อนเปลี่ยนกิจกรรม
การช่วยลูกเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งไปอีกกิจกรรมหนึ่งด้วยการสร้างเสียงหัวเราะ จะทำให้ลูกมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ในตอนเช้าจากที่เคยปลุกลูกแล้วให้เขาเดินไปอาบน้ำทันที ลองเปลี่ยนเป็นปลุกลูกขึ้นมาแล้วเล่นกับลูกก่อน ให้ได้มองหน้าและได้หัวเราะกันจนคุณพ่อคุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกพร้อมที่จะไปอาบน้ำแล้วค่อยพากันไปอาบน้ำหรือแทนการบอกให้ลูกไปกินข้าวด้วยการชวนลูกว่า “ลูกลิงของแม่มาลองดูสิว่าตอนเช้าลิงเค้ากินอะไรกัน” เป็นต้น
- 4 กิจกรรม ช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้าให้ลูกน้อย
- วิธีเล่นสนุกสร้างเสียงหัวเราะ เสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยวัย 0-1 ปี
การเล่นสนุกกับลูก จะช่วยกระตุ้นสารเอนโดฟินและออกซิโทซินให้ทั้งลูกและตัวคุณพ่อคุณแม่เองซึ่งนอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกกับเราแล้ว ยังช่วยให้ลูกสามารถจัดการกับความเครียดและความเสียใจภายในตัวเองได้อีกด้วยทำให้ลูกมีอารมณ์มั่นคง สามารถควบคุมและยับยั้งอารมณ์ของตัวเองได้และให้ความร่วมมือกับเราอย่างเต็มใจ
ในทางตรงข้ามหากว่าเราไม่เล่นกับลูกความเครียดและความเสียใจของลูกจะถูกสะสมกักเก็บเอาไว้ในใจและจะระบายออกมาเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นความก้าวร้าว การต่อต้าน นิสัยขี้งอแง นิสัยขี้โมโหหรือเก็บกดเก็บตัวนิ่งเงียบ ไม่ชอบสังคมกับใคร
3. ปิดเครื่องมือสื่อสาร
เพราะการเล่นเครื่องมือสื่อสารไปด้วยพูดกับลูกไปด้วยจะทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าเขานั้นมีความสำคัญกับพ่อแม่น้อยเพียงไรและแน่นอนว่าเมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ความสนใจกับลูกแล้วลูกก็จะเรียกร้องความสนใจหรือไม่ก็มองหาความสนใจอย่างอื่น และไม่สนใจคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน เราจึงมักเห็นภาพที่ลูกมองจอแท็ปเล็ตไม่วางตาและไม่ค่อยสนใจฟังสิ่งในที่คุณพ่อคุณแม่พูด
- ทำอย่างไร? ให้เตาะแตะสนใจฟังแม่บ้าง
- แม่ไม่สนใจมัวแต่เล่นมือถือ ลูกสาวจึงเอ่ยปากพูดประโยคนึง แม่ถึงกับไม่กล้าเล่นมือถืออีกเลย
- วิธีการเลี้ยงลูกอย่างชาญฉลาด ของ ‘เจ้าชายวิลเลียม’ ดยุกแห่งเคมบริดจ์ (อังกฤษ)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แต่การประสานตากัน การมองหน้าลูก แล้วพูดจะทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าเขามีตัวตนและมีความสำคัญกับพ่อแม่และที่สำคัญวิธีนี้ยังสามารถป้องกันการติดเกมและสังคมออนไลน์ของลูกได้อีกด้วย เพราะหากว่าคุณพ่อคุณแม่สนใจพูดคุยมองตากับลูกแล้วลูกก็จะสนใจอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากฟังเสียงพูดคุยสนทนากับคุณพ่อคุณแม่จริงไหมคะ
4. ช่วงเวลาพิเศษ 15 นาที
คือการใช้เวลากับลูกสองต่อสอง 15 นาทีทุกๆวัน และให้ในช่วงเวลาเป็นเวลาพิเศษที่อนุญาตให้ลูกได้ทำอะไรก็ได้ที่ลูกอยากจะทำด้วยกันกับคุณพ่อหรือคุณแม่ เช่น เดินเล่นด้วยกันเล่นเกมด้วยกัน เต้นด้วยกัน อ่านนิทานด้วยกัน หรือต่อจิ๊กซอว์ด้วยกันเป็นต้น
และให้เป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ลูกได้เป็นคนนำกิจกรรมและคุณพ่อคุณแม่เป็นคนทำตาม วิธีการนี้นอกจากจะช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลายอารมณ์จากการที่เขาได้รับคำสั่งมาแล้วทั้งวันแล้วยังช่วยส่งเสริมทักษะการสื่อสารการทำงานร่วมกับผู้อื่นและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้อีกด้วย
- เหตุผลที่ควรเล่านิทานและเทคนิคการเล่านิทานให้ลูกน้อยเพลิดเพลินและมีความสุข
- ข้อควรปฏิบัติกับลูกก่อนสายเกินไป ช่วงวัยเด็กคือเวลาทอง
- รู้หรือไม่? แท้จริงแล้ว เรามีเวลาอยู่กับลูก ได้แค่ 10 ปีแรกเท่านั้น!
ความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูกแม้ว่าจะมากอย่างไม่มีเงื่อนไขแต่ใช่ว่าจะล้นออกมาจนลูกสามารถรับรู้ได้เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารนิดหน่อยกระชับความสัมพันธ์กับลูกวันละน้อยผลลัพธ์ที่ได้ก็จะงอกเงยเป็นความรักความผูกพันในครอบครัวที่มีคุณค่ามหาศาลอย่างหาที่เปรียบไม่ได้…
ขอบคุณบทความจาก : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้สำหรับ วิธีบอกรักลูก วัยทารก 0-1 ปี หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการแสดงความรักให้ลูกน้อย ก็สามารถทำได้ไม่ยากและไม่ต้องซื้อหาให้สิ้นเปลือง เพียงแค่สัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนโยนและตั้งใจจากคุณพ่อคุณแม่ อย่างเช่น การกอดจูบด้วยความรักเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การกอด หอม หรือเพียงแค่บอกรัก “เป็นพลัง” ที่จะช่วยฟื้นฟูอารมณ์สุขภาพ และความมั่นใจของลูกน้อย ทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆให้ดียิ่งขึ้นอีก และเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ทางใจระหว่างคุณกับลูกน้อยให้เกิดความรักความผูกพันมากยิ่งขึ้นด้วย
4 วิธีบอกรักลูก ง่ายนิดเดียว สำหรับ วัยทารก 0-1 ปี
1. บีบ ๆนวด = เพราะไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่ชอบผ่อนคลายด้วยการนวด เบบี๋ก็ชอบเหมือนกันนะคะ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ เลือดไหลเวียนดีขึ้นแล้ว สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดซึ่งน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน การนวดจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการดูดซึมอาหาร ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มตามพัฒนาการได้เร็วขึ้น และยังช่วยให้เบบี๋หลับง่ายขึ้นด้วย
2. บอกรักบ่อย ๆ = ไม่ต้องเป็นเวลา แต่ต้องทำสม่ำเสมอ อย่างเช่น ระหว่างมื้ออาหาร ขณะขับรถ หรือหลังจากที่เจ้าตัวน้อยทำให้คุณหัวเราะ ตามทฤษฎีของแอริคสันบอกว่า พัฒนาการในช่วงขวบปีแรก หากคุณแม่ให้ความรักและการดูแลเบบี๋อย่างสม่ำเสมอ ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายและทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เบบี๋พัฒนาความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจขั้นพื้นฐาน (Basic Trust) ต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านต่างๆค่ะ
3. ฝึกวินัยลูกด้วยความรัก = ในยามที่ลูกทำพฤติกรรมไม่น่ารักสัมผัสที่บอกเขาว่าคุณรักเขาก็ยังใช้ได้ เช่น กอดลูกแม้เวลาที่เขางอแง หรือเกิดเหตุพี่น้องทะเลาะกัน แล้วฝ่ายหนึ่งถูกตีคุณหยุดฝ่ายที่กำลังลงมือได้ด้วยสัมผัส อย่างเข้าไปจับมือให้หยุด ลูบหลังเขาและบอกว่า “เราไม่ตีกัน ตีกันมีแต่เจ็บตัวนะลูก”
4. เล่นด้วยมือเปล่า = ถ้าลูกของคุณไม่ชอบให้กอด ก็นี่เลย ยีผมเจ้าตัวน้อย เล่นจั๊กจี้ อ้อ! ยังไม่นับการเต้นรำและเล่นขยิบตากันด้วยนะ
และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา … เรามาเริ่มกระชับความสัมพันธ์กับลูกตั้งแต่วันนี้เลยกันเถอะค่ะ ^^
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่างได้เลย ⇓
[สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ
8 วิธี สร้างวินัยเชิงบวก ง่ายๆ ป้องกันลูกดื้อ เริ่มได้ตั้งแต่ 1 ขวบ