ก็คือการวนเวียนคลอเคลียอยู่รอบตัวแม่ไปจนถึงโวยวายโหวกเหวกในขณะที่เรากำลังคุยโทรศัพท์
คุณแม่แอนบอกเราว่า “ทุกครั้งที่รับโทรศัพท์ เจ้าลูกชายตัวดีจะพุ่งเข้าชาร์จตัวเราดังหมับ! แล้วต่อด้วยเกาะไหล่เราเดินวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น นั่นยังไม่พอ เขายังบ่นงึมงำๆ เรียกหาแม่ตั้งแต่รับสายจนกระทั่งวางสายเลย”
ดอกเตอร์แคทเธอลีน ไคลี่ กูเล่ย์ บอกว่า ที่เด็กๆ เป็นอย่างนี้เพราะพวกเขาคิดว่าการคุยโทรศัพท์มาแย่งเวลาของแม่กับเขาไป เจ้าตัวเล็กจะยอมทำทุกอย่างไม่ว่าจะปีนโต๊ะหรือโวยวายเสียงดังขึ้นมาเพื่อให้แม่กลับไปสนใจตัวเขาเหมือนเดิม
เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดเศียรเวียนเกล้าในขณะโทรศัพท์ เรามีวิธีง่ายๆ ให้ลองใช้ดู
• หากโทรศัพท์ดังขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่คุณรู้ดีว่าควรจะให้ความสนใจกับเรื่องของลูกรักก่อน อย่างเช่น ในขณะป้อนข้าว กำลังอ่านนิทานให้ฟัง หรือตอนที่กำลังจะเปลี่ยนผ้าอ้อม ลองใช้บริการฝากข้อความเสียงหรือโอนสายไปก่อน แล้วค่อยโทร.กลับไปตอนที่เราว่างก็คงไม่เสียหาย
• จัดตะกร้าหรือกล่องของเล่นเฉพาะกิจเอาไว้เลย เลือกของเล่นชนิดที่ลูกสามารถเล่นคนเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกสีต่างๆ หนังสือภาพ โทรศัพท์พลาสติก (อันนี้ตรงประเด็นที่สุด) หรือสีเทียนกับกระดาษก็จัดมาโลด พอถึงเวลาจริงก็แค่ลากตะกร้าเฉพาะกิจนี้ออกมา แต่เรา ควรใช้เจ้าตะกร้านี้เฉพาะเวลาที่โทรศัพท์เท่านั้นนะ เขาจะได้จดจำว่านี่คือเวลาที่เขาต้องเล่นคนเดียวชั่วคราว
• หาอาหารว่างเบาๆ มาตั้งตรงหน้าเจ้าตัวเล็กซะ ไม่ว่าจะเป็นกล้วย แครอท หรือขนมปังกรอบ ถึงตอนนั้นคุณจะโทร.กลับหรือรับสายอย่างไรก็ตามสบาย เพราะเขาคงกำลังแทะของว่างอย่างเพลิดเพลินจนลืมไปเลยว่าอยากจะออดอ้อนคุณ
• เมื่อเจ้าตัวเล็กอายุใกล้ 2 ขวบ เราควรเสนอข้อตกลงกับเขาไปเลยว่า แม่อยากให้หนูเล่นคนเดียวไปก่อนในขณะที่แม่กำลังโทรศัพท์อยู่ ยกตัวอย่างให้ชัดเจนว่าธุระของคุณใช้เวลานานเท่าไร เช่นบอกเขาว่า “ไปหาหนังสือที่จะอ่านมาสักเล่มสิลูก ถ้าน้องพริมอ่านหนังสือจบแล้ว คุณแม่ก็คงคุยเสร็จพอดี” ถึงเขาจะยังดื้อดึงอยู่ในครั้งแรกๆ แต่เมื่อเขาโตขึ้น สิ่งดีๆ ที่คุณปลูกฝังในตอนนี้จะต้องเห็นผลอย่างแน่นอน
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง