เมื่อคำว่า ไม่ ที่คุณเคยใช้กับลูกเป็นประจำกลายเป็นคำที่ลูกนำกลับมาใช้กับคุณเสียเอง เพื่อแสดงอาการต่อต้านคำสั่งของคุณ นั่นเป็นเพราะเด็กในช่วงวัยนี้มีความรู้สึกว่าตัวเองโตแล้ว เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และอยากแสดงให้คุณเห็นด้วยว่าเขาเองก็มีเหตุผลในแบบของเขาที่จะไม่ยอมทำตามข้อห้ามของคุณ สิ่งไหนที่เป็นเรื่องต้องห้าม ทำแล้วไม่มีใครชอบ เขายิ่งจะทำ และคอยดูปฏิกิริยาของคนรอบข้างว่าจะเป็นอย่างไร
เรามีกลวิธีรับมือกับอาการนี้มาฝากกัน
– หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ไม่ และพยายามใช้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะยิ่งคุณใช้คำนี้กับเขาบ่อยมากเท่าไร ความน่าเชื่อถือก็จะลดน้อยลงไปด้วย เพื่อให้คำคำนี้มีความหมายไม่ใช่แค่คำสั่งห้ามที่คอยขัดใจเขาเท่านั้น ลูกจะได้รู้ว่า เมื่อไรที่ใช้คำนี้เท่ากับว่าคุณเอาจริงกับเขาแล้วนะ
– อธิบายให้เข้าใจเหตุผล ทุกครั้งที่พูดคำว่า ไม่ ควรมีเหตุผลกำกับให้ลูกเข้าใจด้วยว่าเพราะอะไรถึงต้องห้ามเขา เป็นการลดอาการขัดขืนเพราะฝืนใจ แถมได้สอนเรื่องการมีเหตุและผลแก่ลูกไปในตัวด้วย
– ใช้น้ำเสียงสงบนิ่ง แต่หนักแน่นจริงจัง การพูดด้วยอารมณ์โกรธ หรือต้องอ้อนวอนจนเกินไป ไม่ได้ทำให้ลูกเชื่อคำเตือนของคุณ แต่กลับจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองถือไพ่เหนือคุณเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นการพูดด้วยน้ำเสียงปกติของคุณโดยไม่มีแววล้อเล่นนั่นแหละคือคำประกาศิตที่ลูกจะเชื่อกว่าอะไรทั้งหมด
– ชื่นชมเมื่อลูกเชื่อฟัง เพื่อให้เขารู้ว่าเขาได้ทำในสิ่งที่ถูกแล้ว เป็นการให้กำลังใจและเสริมแรงทางบวกที่ดีเยี่ยม
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง