แทนที่จะไปซื้อวีซีดีหรือดีวีดีสอนภาษามาให้เจ้าตัวเล็ก ซึ่งเขาก็คงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ลองนำของเล่นที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้เป็นอุปกรณ์ฝึกทักษะภาษาให้หนูน้อยกันหน่อยดีกว่า
ถึงจะไม่ใช่กระบวนการฝึกฝนที่ดูไฮเทคอะไร (เพราะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้า) แต่ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันก็ชี้ให้เห็นว่า การเล่นของเล่นแบบบ้านๆ เช่น การเล่นต่อกล่อง ดูจะเป็นวิธีเสริมสร้างพัฒนาการด้านภาษาที่ดีที่สุดสำหรับหนูน้อย (แน่นอนว่าดีกว่าดีวีดีสอนภาษาด้วย) เพราะเป็นกิจกรรมที่มีการโต้ตอบระหว่างสองฝ่าย นั่นหมายความว่าจะต้องมีคุณแม่หรือใครอีกคนเล่นกับเจ้าตัวเล็ก พร้อมกับพูดคุยกับเขาไปด้วยว่าสองเรากำลังทำอะไรกันอยู่
ลองมาดูตัวอย่างกัน สมมติว่าคุณนำกล่องเล็กๆ มาให้ลูกเล่น โดยอาจชวนเขาต่อกล่องซ้อนกันขึ้นเป็นตึกสูงๆ นับกล่องเล่น แยกประเภทกล่องตามสีหรือขนาด หรือจะคิดเกมอะไรใหม่ก็ตามแต่ หัวใจสำคัญคือคุณต้องพูดคุยกับเขาไปด้วยว่าคุณและเขากำลังทำอะไรกันอยู่ ไม่ช้าคนดีของคุณแม่ก็จะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น หยิบกล่องขึ้นมาเมื่อมีคนบอกให้ทำ (ก็เคย “หยิบ” กล่องกับแม่มาแล้วนี่นา)
นอกจากนี้คุณยังสามารถนำของเล่นอื่นๆ มาใช้ได้อีก เช่น อาจจะนำตุ๊กตาหรือรถมาคิดเกมเล่นกัน เพื่อให้ลูกรู้จักเชื่อมโยงสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ได้ยิน คราวต่อไป หากเขาเล่นของเล่นเหล่านี้อีก เขาก็จะนึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินจากปากแม่ว่าสัมพันธ์กับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่อย่างไร ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้จะช่วยวางรากฐานให้ลูกรู้จักสร้างหรือใช้คำของเขาเองในเวลาต่อไป
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง