ออทิสติกเทียม พ่อแม่แก้ไขได้
“ในเด็ก 100 คนที่พ่อแม่พามาปรึกษาด้วยสงสัยว่าเป็นออทิสติก เราจะพบเด็กที่เป็นออทิสติกเทียม 20-30 คน ซึ่งแพทย์จะไม่วินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก แต่จะให้คำแนะนำถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไข ปรับพฤติกรรม ได้แก่ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และรับปรับพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งสามารถหายได้ โดยพ่อแม่ทำได้เอง” ดร.วสุนันท์ ย้ำชัดถึงโอกาสของการหายจากอาการออทิสติกเทียม
1. กรณีปล่อยให้ดูทีวี หรือแท็บเลต
“เนื่องจากเป็นอาการซึ่งเกิดจากการปล่อยปละละเลย ไม่ได้สอนเขา วิธีการแก้ไขเพียงใช้การปรับพฤติกรรมเท่านั้น เมื่อพ่อแม่รู้แล้ว ยอมรับ หากไม่มัวรู้สึกผิด ไม่มัวทอดอาลัย หันมาตั้งใจจริงกับการปรับพฤติกรรม เพียง 3 เดือน ลูกก็กลับมาพูดแล้ว เพียงแต่ต้องระวังไม่เร่ง และไม่เครียดค่ะ”
การปรับพฤติกรรมที่ได้ผลดี คือ ไม่หักดิบ แต่ให้เวลา ทำกิจกรรมกับลูก สอนหรือฝึกทักษะการพูด การสื่อสารและทักษะทางสังคม ได้แก่
- จำกัดเวลาดูทีวีไม่เกิน 5-10 นาที และพ่อแม่ต้องนั่งดูกับลูก และพูดคุยกับลูกไปด้วย และควรเลือกเนื้อหาที่ดูให้มีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ทำอาหาร งานศิลปะ ประดิษฐ์หรือ ทดลองต่างๆ “การได้เคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้เด็กรู้สึกถึงการมีพลัง เขาจะสนุก แล้วจะลดการดูทีวี นอกจากนี้การได้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ เพื่อให้สมองเกิดการเรียนรู้อีกด้วย”
- ถ้าจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง ต้องเลือกพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพ และพ่อแม่ต้องมีกติกาชัดเจนว่า บ้านนี้จะไม่เปิดทีวีหรือ แท็บเลตเลี้ยงเด็ก
- คุยกับลูกวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เพื่อให้เขาเรียนรู้คำศัพท์ที่ช่วยในการสื่อสาร เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-เด็ก ครู-นักเรียน เพื่อน-เพื่อน เขาต้องรู้ว่าเขาควรทำอะไรบ้าง เช่น ขอร้อง ขออนุญาต อยากจะเล่นกับใครก็ต้องเขาไปหา ขอเล่นด้วยโดยต้องค่อยๆ ฝึกทีละน้อย ทำให้ลูกดู ให้ลูกทำตาม เป็นต้น และไม่อายที่จะสอนลูก เมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่น่ารัก ไม่เหมาะสม แม้ในที่สาธารณะ พ่อแม่ควรเปลี่ยนความอายเปลี่ยนความกลัว เป็นความดีใจว่าจะได้โอกาสช่วยลูก
เด็กที่มีอาการออทิสติกเทียม ไม่ได้ป่วยเป็นออทิสติก เขาถูกทำให้มีอาการออทิสติก จึงแก้ไขได้ และหายได้แน่!
อ่านต่อ “การแก้ไขอาการออทิสติกเทียมสำหรับพ่อแม่ กรณีเร่งเรียน” คลิกหน้า 6