เด็กที่ไม่มีความมั่นใจ มักจะเก็บความรู้สึกนึกคิดที่ตัวเองมีไม่กล้าเอ่ยหรือกล่าวมันออกไป หากปล่อยไว้นานไปอาจกระทบต่อพัฒนาการของลูกได้ มาฝึกให้ลูกเป็นเด็ก กล้าแสดงออก กันเถอะ
10 วิธีฝึกลูกให้ “กล้าแสดงออก” อย่างเหมาะสม ไม่ก้าวร้าว
Assertiveness หรือ การแสดงออกอย่างเหมาะสม คือ พฤติกรรมหรือการแสดงออกด้วยคำพูด หรือกิริยาอาการว่าเรามีความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ปิดบังหรือ อ้อมค้อม และเป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากความวิตกกังวลทางอารมณ์ ด้วยความสุภาพตรงไปตรงมาและมีประสิทธิภาพ ในเวลาที่เหมาะสมโดยไม่ก้าวร้าว สามารถรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้
หากจะพูดถึงเรื่องการแสดงออก การแสดงออกของคนเรามี 3 ระดับ คือ
- พฤติกรรมการไม่กล้าแสดงออก (Nonassertive or Passive Behavior)
- พฤติกรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสม (Assertive Behavior)
- พฤติกรรมการแสดงออกแบบก้าวร้าว (Aggressive Behavior)
จะเห็นได้ว่า พฤติกรรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสม (Assertive Behavior) จะอยู่กึ่งกลางระหว่างการไม่กล้าแสดงออก และการแสดงออกแบบก้าวร้าว เด็กที่ไม่กล้าแสดงออก สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากลักษณะนิสัย อารมณ์ และจิตใจของตัวเด็กเอง แต่กลับเกิดจากปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การถูกดุว่า ลงโทษที่มากเกินไป การถูกล้อเลียน ความเข้าใจผิดจากการเลี้ยงดูที่ว่า การไม่แสดงออกเป็นความสุภาพ อ่อนโยนและเรียบร้อย เป็นต้น
ในทางกลับกัน เด็กที่ กล้าแสดงออกเป็นสิ่งที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกมีความกล้าแสดงออก เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจ และมีความเคารพและเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) แต่การแสดงออกที่มากเกินไป จนไปรุกรานสิทธิ์ของผู้อื่น ก็อาจทำให้ถูกมองว่าเป็นเด็กที่ก้าวร้าวได้ (Aggressive Behavior) ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะฝึกให้ลูกมีความ กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง สามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
ทำความรู้จัก 12 ลักษณะของเด็กที่กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม
- การพูดแสดงความรู้สึก – สามารถแสดงความชอบและความสนใจออกมาได้ว่าตนรู้สึกอย่างไร มีความคิดเช่นไร โดยสามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างเหมาะสม
- การพูดเกี่ยวกับตนเอง – เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมหรือกระทำสิ่งที่มีคุณค่า เด็กจะสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองกับคนรอบข้างได้ โดยไม่ผูกขาดการสนทนาไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่พูดจาโอ้อวด และสามารถพูดถึงความสำเร็จของตนได้อย่างเหมาะสม
- การพูดจาทักทายปราศรัย – สามารถแสดงความเป็นมิตร และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นที่ต้องการทำความรู้จักได้ ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายด้วยน้ำเสียงที่แสดงความยินดีที่ได้พบ สามารถสร้างบทสนทนาที่ดีต่อไปได้
- การยอมรับคำชมเชย – สามารถยอมรับคำชมเชยได้อย่างจริงใจ และไม่ปฏิเสธคำชมเชยที่ได้รับ
- การแสดงสีหน้าอย่างเหมาะสม – สามารถแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียงได้ตรงตามความรู้สึกที่แท้จริง สามารถสบตาคู่สนทนาได้อย่างเหมาะสม
- การแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพ – สามารถแสดงออกได้อย่างสุภาพโดยไม่เสแสร้ง เมื่อมีความรู้สึกว่าไม่เห็นด้วยกับข้อความในการสนทนานั้น ซึ่งอาจแสดงออกด้วยการเลิกคิ้ว หรี่ตา ส่ายศีรษะ หรือเปลี่ยนหัวข้อในการสนทนา โดยสามารถแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสมและสุภาพ
- การขอให้แสดงความกระจ่างชัด – เมื่อมีผู้ให้คำแนะนำ คำสั่งสอน หรือคำอธิบายที่กำกวมไม่ชัดเจน ก็สามารถซักถามเพื่อให้เข้าใจในความหมายของคำแนะนำสั่งสอนได้อย่างชัดเจน หรือขอร้องให้มีการอธิบายใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้
- การถามเหตุผล – เมื่อมีผู้มาขอร้องให้ทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล สามารถถามเหตุผลที่ชัดเจนของสิ่งที่จะทำได้อย่างตรงไปตรงมา
- การแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน – เมื่อมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับผู้อื่น ก็สามารถแสดงความไม่เห็นด้วย โดยสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป บอกความคิดและความรู้สึกของตนได้อย่างชัดเจน
- การพูดเพื่อรักษาสิทธิของตน – สามารถเรียกร้องสิทธิของตนได้เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบตนเอง เมื่อรู้สึกว่าตนถูกเอาเปรียบก็สามารถปฏิเสธได้โดยไม่เก็บมาคิดว่าเป็นความผิดของตน สามารถเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตนและขอร้องให้ผู้อื่นแสดงต่อตนเองอย่างยุติธรรมด้วย
- การยืนกราน – เมื่อรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม บุคคลสามารถทำการร้องทุกข์และยืนหยัดในวัตถุประสงค์ของตนเองจนกว่าจะได้รับความพอใจ แม้มีผู้คัดค้านก้ไม่เลิกล้มความตั้งใจนั้น
- การเลี่ยงการให้คำอธิบายกับทุก ๆ ความคิดเห็น – สามารถโต้เถียงในการสนทนา โดยการยุติการวิจารณ์ เช่น เมื่อมีบุคคลหนึ่งถามเหตุผลว่าทำไม ๆ ตลอดเวลา ก็จะสามารถหยุดคำถามโดยการปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ เพิ่มเติม หรือการถามคำถามนั้นกลับไปแก่ผู้ถาม โดยบุคคลอาจมีเหตุผลของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องบอกว่าตนมีความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นอย่างไร
การกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม จะไม่ปิดกั้นพัฒนาการในทุก ๆ ด้านของลูกน้อย และจะไม่ถูกมองว่าก้าวร้าวอีกด้วย ดังนั้น เรามาฝึกให้ลูกมีความ กล้าแสดงออก อย่างเหมาะสมกันเถอะ
10 วิธีฝึกลูกให้ “กล้าแสดงออก” อย่างเหมาะสม ไม่ก้าวร้าว
-
รู้จักขอบเขตของการกล้าแสดงออก
ให้ลูกรู้ว่าการแสดงออกเป็นสิ่งที่ดี แต่การแสดงออกที่มากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ในทางลบ ในบางครั้ง ลูกไม่รู้ว่าควรแสดงออกมากน้อยแค่ไหน การแสดงออกเท่านี้ ถูกมองว่าเป็นการล้ำเส้นแล้วหรือยัง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะอธิบายเหตุผลหากลูกได้ล้ำเส้นของการแสดงออก โดยอาจยึดหลักการง่าย ๆ คือการแสดงออกที่ไปรุกรานสิทธิ์ของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ได้รับความอับอาย ถือว่าเป็นการแสดงออกที่มากเกินไป เป็นต้น
2. อธิบายให้ลูกรู้ถึงความสำคัญของการแสดงออกอย่างเหมาะสม
การกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง มีความเคารพและรู้จักคุณค่าในตัวเอง กล้าที่จะทำในสิ่งที่ดี กล้ายอมรับผิดเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย กล้าขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ และกล้าที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
3. ชมลูกด้วย
เมื่อลูกได้แสดงถึงความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมให้คุณพ่อคุณแม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กน้อย อย่าลืมให้คำชมแก่ลูก และอธิบายว่าทำไมลูกถึงได้รับคำชมนี้ เช่น เมื่อลูกหิว ลูกได้บอกความต้องการของตนเองออกไปโดยไม่โมโหและโวยวาย (ซึ่งในเด็กเล็ก การควบคุมอารมณ์ไม่ให้โมโหตอนหิวนั้นทำได้ยากมาก) คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมกล่าวคำชมว่าลูกได้แสดงออกถึงความต้องการตนเองได้อย่างมีเหตุผลและเหมาะสมด้วยนะคะ
4. เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก
สิ่งใดที่เป็นสิ่งของส่วนตัวของลูก ลูกควรได้รับการขออนุญาติก่อนหยิบมาใช้หรือเล่นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ น้อง ญาติ หรือแม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ตาม สิ่งนี้จะสอนให้ลูกรู้จักสิทธิ์ของตนเอง และก็จะเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย เช่น หากของเล่นชิ้นนั้นเป็นของลูก แล้วเพื่อนต้องการจะเล่นของเล่นชิ้นนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะหยิบให้เพื่อนเล่น ด้วยคำพูดที่ว่า “แค่นี้เอง แบ่ง ๆ กันหน่อย ลูกต้องรู้จักแบ่งปัน” แต่คุณแม่ควรพูดขออนุญาตลูกก่อนทุกครั้ง ว่าลูกยินยอมที่จะแบ่งปันหรือไม่ ซึ่งหากลูกไม่ยอม คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรที่จะบังคับให้ลูกยอม เพราะสิ่ง ๆ นั้น เป็นของส่วนตัวของลูก เป็นต้น
5. ส่งเสริมให้ลูกแสดงความรู้สึกของตนเอง
การแสดงความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่ผิด คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้พูดหรือแสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ไม่ว่าความต้องการนั้น ๆ จะดูไร้สาระสำหรับคุณพ่อคุณแม่แค่ไหนก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรับฟังค่ะ เพราะนี่เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เปิดใจกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรดูคือ ลักษณะของการแสดงออกความรู้สึกของลูก ต้องไม่ให้เป็นการแสดงออกที่ไม่มีเหตุผลหรือรุนแรงก้าวร้าวจนเกินไป
6. ชวนลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน นอกห้องเรียนบ้าง
การได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ ผู้คนใหม่ ๆ จะช่วยทำให้ลูกไม่ประหม่าเมื่อเจอคนแปลกหน้า โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันเป็นทีม จะช่วยให้ลูกรู้จักคิด แก้ไขปัญหา และหาทางออกร่วมกันได้
7. ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
วิธีการสอนการกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมที่ดีที่สุดคือการทำให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง วิธีนี้ ไม่ต้องใช้คำพูดสั่งสอนมากมาย แต่ลูกจะจดจำและนำไปใช้ได้ดียิ่งกว่าการสอนด้วยคำพูดอีกด้วยซ้ำ
8. ให้ลูกได้ตัดสินใจเองบ้าง
ให้ลูกได้ตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และยอมรับผลของการตัดสินใจนั้น ๆ เองด้วยเช่นกัน วิธีการง่าย ๆ ที่จะผลักดันให้ลูกตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว คือ ลองให้ตัวเลือกกับลูก แล้วให้ลูกติดสินใจเองว่าจะเลือกตัวเลือกไหน และยอมรับกับผลที่ตัวเองเลือก เช่น หากลูกต้องการทานขนมก่อนนอน ลองให้ลูกได้เลือกว่าหากลูกทานขนม ลูกต้องไปแปรงฟันซ้ำอีกครั้ง หรือหากเลือกที่จะไม่ทาน ลูกก็สามารถทานขนมชิ้นนี้ในวันพรุ่งนี้ได้ เป็นต้น นอกจากการให้ลูกได้ตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ จากการกระทำของตนเองแล้ว สำหรับเด็กโต คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน เช่น การให้ลูกเลือกร้านอาหารที่อยากทานเอง เป็นต้น
9. สอนให้ลูกรู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง และรับมือกับความผิดหวัง
การควบคุมอารมณ์ตนเองจะช่วยให้ลูกแสดงออกถึงสิ่งที่ไม่ได้อย่างที่ใจตนต้องการได้อย่างเหมาะสม ให้ลูกได้รู้ว่าการแสดงอารมณ์โกรธ การตะโกน เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม และหากลูกได้พบเจอกับความผิดหวังหรือความล้มเหลว คุณพ่อคุณแม่ควรใช้โอกาสนี้ในการสอนให้ลูกรับมือกับความผิดหวัง
อ่านต่อ : 10 วิธีสอนลูกให้รับมือกับ “ความล้มเหลว” ในชีวิต
10. สอนลูกให้เชื่อมั่นและทำตามในสิ่งที่ตนเองคิด
ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุดในการฝึกลูกให้ กล้าแสดงออก คือ ลูกต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิด พูด แสดง และทำตามสิ่ง ๆ นั่นอย่างมุ่งมั่น สิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีวินัยในตนเอง (Self-Discipline) และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) เพราะลูกจะเกิดความภูมิใจในตัวเองที่ได้แสดงออกและทำตามในสิ่งที่ตนเองคิด
ทักษะในการ กล้าแสดงออก นี้ ควรฝึกให้ลูกทำจนเป็นนิสัยติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะทักษะนี้ ลูกจะได้ใช้มันไปจนโต และยังเป็นทักษะพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ และพัฒนาทักษะทางสังคมต่อไป
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : afineparent.com, www.baanjomyut.com, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่