การพัฒนาร่างกายและระบบประสาทเกิดอย่างรวดเร็วใน 2 ปีแรกของชีวิต ทั้งการสร้างเซลล์ประสาท เส้นใยประสาทและปริมาณเนื้อสมองที่เพิ่มหลายสิบเท่าจากขณะอยู่ในครรภ์ ปัจจุบันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสารอาหารต่างๆที่มีผลต่อสมองของทารก ทารกที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางกาย พัฒนาการ การเรียนรู้ และสติปัญญา ดังนั้นเด็กควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาสมองได้เต็มศักยภาพ1-2
นมแม่ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม ในที่นี้จะกล่าวถึงสารอาหารสำคัญบางชนิดในนมแม่ ที่มีผลต่อการเจริญของสมองและระบบประสาทในเด็ก
โปรตีน ในนมแม่มีปริมาณที่เหมาะสมสำหรับทารก ย่อยและดูดซึมได้ง่าย นมแม่ช่วยต้านทานโรค ลดการติดเชื้อ ปกป้องทารกจากการเจ็บป่วยอันเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการ3-4 ช่วยการดูดซึมแร่ธาตุและสารอาหารอืนๆ และโปรตีนยังเป็นแหล่งของกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายจะนำไปใช้ในการเจริญเติบโต
แอลฟา-แล็คตัลบูมิน (Alpha-lactalbumin) เป็นโปรตีนเวย์ชนิดหนึ่งในนมแม่ ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนสำคัญคือ ทริปโตเฟน ไลซีน และ ซิสเตอีน ทริปโตเฟนที่มีมากในนมแม่ ช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ การเรียนรู้จดจำ ความจำและอารมณ์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่ารูปแบบและคุณภาพของการนอนที่ดี อาจส่งผลถึงความจำและการเรียนรู้ของเด็กได้5-7
ดีเอชเอ (DHA) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่ง สังเคราะห์ในร่างกายได้จากโอเมก้าสามซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็น นอกเหนือจากการเป็นแหล่งให้พลังงานแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของ เนื้อเยื่อประสาท สมอง เยื่อหุ้มใยประสาทและเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ ทารกที่เกิดก่อนกำหนด และทารกที่เกิดครบกำหนดบางคนในช่วงอายุ 3-6 เดือนแรก ร่างกายอาจยังไม่สามารถสังเคราะห์ ดีเอชเอ ได้เพียงพอกับความต้องการ จึงอาจต้องได้รับ ดีเอชเอ บางส่วนเพิ่มเติมจากอาหาร โดยเฉพาะจากนมแม่8-11
โคลีนและลูทีน สร้างสารสื่อประสาทและเยื่อหุ้มใยประสาท12-13 ลูทีนเป็นหนึ่งในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ พบมากในจอประสาทตา เกี่ยวข้องกับการมองเห็น และเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จดจำ14
นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุรวมถึงสารอาหารอื่นอีกมากในนมแม่ ที่มีผลต่อการเจริญและพัฒนาของสมองทารก เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดี ทองแดง โฟเลท เป็นต้น สารอาหารแต่ละชนิดมีบทบาท เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและสมองที่แตกต่างกัน
การเสริมอาหารตัวใดตัวหนึ่งอาจไม่สามารถทำหน้าที่ในการสร้างหรือพัฒนาระบบประสาทได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของสารอาหารหลากหลายชนิด จะเห็นจากหลายการศึกษาที่ผ่านมา ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลของการเสริมสารอาหารบางชนิดเพียงตัวเดียว แม้ทราบว่าสารอาหารนั้นมีผลกับสมอง พัฒนาการ การเรียนรู้จดจำก็ตาม
มีการศึกษาผลจากการให้สารอาหารหลายชนิดร่วมกัน โดยเป็นการศึกษาแบบสังเกต หาค่าปริมาณดีเอชเอ โคลีน และลูทีนที่ทารกได้รับจากนมแม่ และวัดความสามารถในการจดจำของทารกที่อายุ 6 เดือน โดยการวัดระดับของสารอาหารเหล่านี้จากน้ำนมแม่ของผู้เข้าร่วมการศึกษา และวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชนิดอีอาร์พี (ERP: event related potential) ในทารก พบว่าในรายที่ได้รับลูทีนกับโคลีนที่สูง หรือ ดีเอชเอกับโคลีนที่สูง สัมพันธ์กับลักษณะคลื่นสมองซึ่งบ่งบอกถึงความสามารถในการจดจำที่ดีกว่า15
สรุป สารอาหารหลายชนิดมีบทบาทสำคัญต่อ สมอง พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งโปรตีน แอลฟา แล็คตัลบูมิน ดีเอชเอ โคลีน ลูทีน วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆในปริมาณที่เหมาะสม ให้ในเวลาช่วงวัยที่เหมาะสม ล้วนมีผลสมอง และพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น การให้ความสำคัญกับสารอาหารตัวหนึ่งตัวใดเพียงตัวเดียว อาจไม่เพียงพอในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก และนอกจากอาหารแล้ว สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู การกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้ความใส่ใจกับทุกด้าน เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้เติบโตแข็งแรง เฉลียวฉลาดสมวัย และพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
เอกสารอ้างอิง
- Dobbing J, Sands J. Quantitative growth and development of human brain. Arch Dis Child. 1973 Oct;48(10):757–67.
- Prado EL, Dewey KG. Nutrition and brain development in early life. Nutr Rev. 2014 Apr;72(4):267–84.
- Lönnerdal B. Bioactive Proteins in Human Milk: Health, Nutrition, and Implications for Infant Formulas. J Pediatr. 2016 Jun;173, Supplement:S4–9.
- Donovan SM. The Role of Lactoferrin in Gastrointestinal and Immune Development and Function: A Preclinical Perspective. J Pediatr. 2016 Jun;173 Suppl:S16–28.
- Schneider N, Mutungi G, Cubero J. Diet and nutrients in the modulation of infant sleep: A review of the literature. Nutr Neurosci. 2016 Nov 21;0(0):1–11.
- Huber R, Born J. Sleep, synaptic connectivity, and hippocampal memory during early development. Trends Cogn Sci. 2014 Mar;18(3):141–52.
- Lien EL. Infant formulas with increased concentrations of α-lactalbumin. Am J Clin Nutr. 2003 Jun 1;77(6):1555S – 1558S.
- Lauritzen L, Brambilla P, Mazzocchi A, Harsløf LBS, Ciappolino V, Agostoni C. DHA Effects in Brain Development and Function. Nutrients. 2016 Jan 4;8(1):6.
- Calder PC. Docosahexaenoic Acid. Ann Nutr Metab. 2016 Nov 15;69(Suppl. 1):7–21.
- Brenna JT, Carlson SE. Docosahexaenoic acid and human brain development: Evidence that a dietary supply is needed for optimal development. J Hum Evol. 2014 Dec;77:99–106.
- Meldrum S, Simmer K. Docosahexaenoic Acid and Neurodevelopmental Outcomes of Term Infants. Ann Nutr Metab. 2016 Nov 15;69(Suppl. 1):22–8.
- González HF, Visentin S. Micronutrients and neurodevelopment: An update. Arch Argent Pediatr. 2016 Dec 1;114(6):570–5.
- Ramel SE, Georgieff MK. Preterm Nutrition and the Brain. Vol. 110. Karger Publishers; 2014
- Erdman JW, Smith JW, Kuchan MJ, Mohn ES, Johnson EJ, Rubakhin SS, et al. Lutein and Brain Function. Foods Basel Switz. 2015 Dec;4(4):547–64.
15. Cheatham CL, Sheppard KW. Synergistic Effects of Human Milk Nutrients in the Support of Infant Recognition Memory: An Observational Study. Nutrients. 2015 Nov 3;7(11):9079–95.