การนั่งท่า W (W Sitting) คือ การนั่งโดยบั้นท้ายอยู่ตรงกลางระหว่างขาทั้งสองข้างที่งอพับหันฝ่าเท้าออกไปทางด้านข้าง ทำให้เป็นรูป W เป็นท่าต่อเนื่องจากการคลานไปคลานมาแล้วต้องการหยุดเพื่อนั่งเล่น เด็กจะทิ้งน้ำหนักตัวมาที่บั้นท้าย โดยแยกต้นขาและหัวเข่าจากกัน การนั่งแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคง ไม่เอนล้มง่าย แต่ทำไมทางการแพทย์จึงแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กนั่งท่านี้!?…
• เป็นท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ได้ออกแรงเพื่อการทรงตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการการเคลื่อนไหวขั้นสูงต่อไป เช่นการยืนทรงตัวบนพื้นที่สูงต่ำต่างระดับ การทรงตัวเวลาที่โดนผลัก เวลาที่ต้องนั่งไปด้วยแล้วต้องเขียนหนังสือหรือใช้มือทำงานบนโต๊ะไปด้วย เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการทรงตัวของกล้ามเนื้อหลัง แต่ถ้ากล้ามเนื้อหลังไม่แข็งแรง จะทำให้พัฒนาการด้านนี้ช้ากว่าเด็กคนอื่น
• เป็นท่าที่ทำให้ข้อสะโพกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกบิดออกจากตำแหน่งเบ้า ทำให้เกิดอันตราต่อข้อสะโพกในระยะยาว ทำให้มีอาการปวดข้อหรือข้อสะโพกเคลื่อน แสดงออกเร็วขึ้นในคนที่อาจมีปัญหาดังกล่าวซ่อนเร้นอยู่
• เป็นท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อขาบางมัดมีการหดรั้งผิดรูปไป เกิดปัญหาการเดินผิดปกติ ที่เรียกว่า Toe – in คือปลายนิ้วเท้าบิดเข้า ทำให้ต้องการการแก้ไข กรณีลูกคุณแม่มีปัญหานี้แล้ว หมอแนะนำให้พาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกเด็กเพื่อขอคำแนะนำว่า จำเป็นต้องตัดรองเท้าเพื่อดัดรูปเท้าแล้วหรือยัง
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกมีปัญหาการนั่งท่า W sitting
ต้องคอยระวังไม่ให้ลูกนั่งท่านี้บ่อยๆคอยจัดท่าให้เป็นการนั่งแบบเหยียดขาตรงไปด้านหน้า นั่งเก้าอี้เพื่อห้อยขา นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบโดยให้สลับซ้ายขวาให้สมดุลกัน พยายามแก้ไขทุกครั้งที่ลูกนั่งผิดท่าส่วน การนั่งรถหัดเดินไม่ได้ทำให้เกิดท่านั่ง Wแต่ทำให้เกิดปัญหาเดินแบบเขย่งปลายเท้าและเกิดอุบัติเหตุจากรถหัดเดินพลิกคว่ำได้ จึงไม่ควรใช้เช่นกัน