หากลูกสองคนมีอายุใกล้เคียงกันแบบนี้ หลายๆ บ้านจะให้นอนพร้อมกัน เพราะหนึ่ง ประหยัดเวลา เพราะช่วงก่อนเข้านอนมันช่างเป็นช่วงที่ใช้เวลามากมายเหลือเกิน กว่าจะอาบน้ำ แต่งตัว กินนม แปรงฟัน อ่านนิทาน หรือกล่อมนอน ถ้าคนใดคนหนึ่งแค่ “ไม่” เพียงเรื่องเดียว เช่น ไม่ยอมอาบน้ำด้วยกัน หรือไม่ฟังนิทานเรื่องเดียวกัน การพาลูกเข้านอนจะกลายเป็นการฉายหนังยาวทีเดียว
เหตุผลที่สองคือ ถ้าคุณให้รางวัลคนพี่ด้วยการนอนช้ากว่าได้ อาจจะกลายเป็นการส่งสัญญาณให้ลูกทั้งสองเข้าใจว่า การนอนคือ “การลงโทษ” และอาจลามไปเป็นการแข่งขันกันระหว่างพี่น้องโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะน้องอาจจะคิดว่าพ่อแม่ต้องรักพี่มากกว่าเขาแน่เลย เพราะได้นอนช้ากว่า จะได้อยู่กับพ่อแม่นานกว่า ส่วนพี่ก็อาจจะคิดอย่างนั้นด้วย ยิ่งแข่งกับน้องให้ตัวเองได้รางวัลเข้านอนช้ากว่าบ่อยขึ้นอีก
นอกจากนี้ถ้าพี่น้องเข้านอนพร้อมกันได้ พ่อแม่ก็ย่อมมีเวลาของตัวเองได้ผ่อนคลายกันบ้าง สุดท้ายสำหรับพี่โตซึ่งไปโรงเรียนแล้ว เรื่องงีบกลางวันก็อาจจะไม่เต็มที่นัก ถ้าเขาได้เข้านอนพร้อมกับน้องก็จะทำให้เขาได้นอนเต็มที่มากขึ้น
ทั้งนี้การพาลูกที่วัยใกล้เคียงกันเข้านอนพร้อมกัน มีข้อควรรู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ด้วย
• ลูกแต่ละคนควรได้มีเวลาเฉพาะเขากับคุณทุกวัน เพราะการที่พี่น้องทำกิจกรรมก่อนเข้านอนและเข้านอนพร้อมกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเขาต้องทำด้วยกันทั้งหมด
• พ่อแม่ที่พาลูกเข้านอนเอง ที่ว่าคุณด้วยเหตุผล เป็น single dad หรือ single mom หรือเป็นพ่อแม่ที่ทำงานทั้งคู่ซึ่งจะมีเวลาเจอลูกในช่วงก่อนนอน หรือต้องทำงานที่เดินทางบ่อย จะรู้สึกว่าทำได้ยากมาก เพราะพยายามที่จะให้เวลาลูกทั้งสองคน ยิ่งพยายามมากยิ่งใช้เวลามาก และอาจจะรู้สึกไม่ดีที่ทำให้เวลานอนของพี่น้องกลายเป็นเวลาที่พี่น้องทะเลาะกัน
• ถ้าวันไหนดูท่าพี่คงไม่นอนพร้อมน้อง คุณก็ยังคงพาเขาเข้านอนเวลาเดียวกันเหมือนที่ทำทุกวัน แต่อนุญาตให้พี่อ่านหนังสือหรือเล่นอะไรที่เขาต้องการบนเตียงเงียบๆ โดยเปิดไฟสลัวหรือโคมไฟ จนกว่าเขาจะง่วงเอง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง