นอกจากนี้คุณแม่ยัง “ให้เขาไปเล่นของอย่างอื่น หรือหาของใหม่ให้เขาแทน” อันนี้จึงเป็นการแสดงให้เขาเห็นว่าคุณแม่ลำเอียง เขาเล่นของเขาอยู่ดีๆ กลับถูกคุณแม่ยกให้คนอื่นและส่งเขาไปเล่นที่อื่นหรืออย่างอื่น การกระทำทำนองนี้ไม่ต้องใช้คำพูดบรรยายให้มากความเพราะลำพังการกระทำนั้นชัดเจนอยู่แล้ว เหตุเพราะพัฒนาการทางความคิดของเด็ก 3 ขวบยังเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอยู่มาก เขาเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ดังนั้นไม่ผิดปกติอะไรที่เขาจะคิดว่าของเล่นนั้นควรเป็นของเขามากกว่าเด็กอีกคนหนึ่งที่เกิดทีหลัง
ในมุมมองของน้องอายุ 2 ขวบครึ่ง เขาไม่เข้าใจคำพูดประเภท “เป็นพี่ต้องเสียสละ มีน้ำใจให้น้อง” เช่นกัน ด้วยเหตุผลเดียวกันนั่นคือนี่เป็นคำพูดที่เป็นนามธรรมมากจนจับต้องไม่ได้เลยและเขาเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ส่วนการกระทำ “ให้เขา(พี่)ไปเล่นของอย่างอื่น หรือหาของใหม่ให้เขา(พี่)แทน” เป็นการสาธิตอย่างเป็นรูปธรรมให้เขาเห็นว่าเขามีอำนาจเหนืออีกคนหนึ่ง(คือพี่)อย่างมากมาย และเขาพร้อมจะใช้อำนาจนั้น(แย่งของเล่นของพี่)อีกในวันหลัง
คุณยายพูดถูกแล้วครับ คุณยายพูดมาคำหนึ่งว่า “จะไม่ให้พี่มันมีสิทธิ์ในของๆ มันบ้างเลยหรือ”
ในครอบครัวใดๆ มีโครงสร้างของมันอยู่ โครงสร้างปกติคือพ่อแม่พี่น้อง นั่นคือพ่อแม่ใหญ่สุดและใหญ่กว่าลูกๆ ในประดาลูกๆ พี่ใหญ่กว่าน้องเสมอ ธรรมเนียมไทยสอนให้พี่เสียสละให้น้องแต่แท้จริงแล้วคนเราทุกคนจะเสียสละได้ต้อง “มี” ก่อนเสมอ มิเช่นนั้นแล้วจะเอาอะไรไป “เสีย” และ “สละ” นี่พี่ยังไม่ทันจะมีเลยก็ถูกบังคับให้เสียสละเสียแล้ว