ลูกไม่พูด..พูดช้า ลูกหูหนวกหรือเปล่านะเลยไม่พูด? ควรไปหาหมอหรือไม่? มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ได้ที่นี่
5 ความเข้าใจผิดเมื่อ ลูกไม่พูด..พูดช้า และ 6 วิธีฝึกลูกพูด
เมื่อเด็กทารกเกิดมา พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ก็จะพัฒนาขึ้นไปตามวัย ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา พัฒนาการทางด้านภาษาและการพูด ก็เป็นอีก 1 พัฒนาการที่ลูกน้อยจะต้องมี โดยทั่วไป เด็กจะสามารถพูดได้เมื่ออายุ 2-3 ปี โดยพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กตามปกติ เป็นดังนี้
- ช่วงอายุ 1 – 4 เดือน ส่งเสียงอ้อแอ้ สนใจเสียงผู้ที่มาคุยด้วย คุ้นเคยกับเสียงคนใกล้ชิด
- ช่วงอายุ 5 – 6 เดือน ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ เริ่มหันหาเสียงและเลียนเสียงผู้อื่น
- อายุ 9 – 12 เดือน เริ่มพูดได้เป็นคำพยางค์เดียว ให้ท่าทางสื่อความหมายร่วมด้วย
- อายุ 1 – 1.5 ปี มีการโต้ตอบชัดเจน สามารถทำตามคำสั่งได้ เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้
- ช่วงอายุ 1.5 – 2 ปี พูดได้ 50-80 คำ เริ่มรวมคำ เข้าใจคำสั่งที่ยากขึ้น
- ช่วงอายุ 2 – 3 ปี สามารถพูดเป็นประโยคได้ ตอบได้ พูดคุยสื่อสารรู้เรื่องมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยเล็ก ๆ หรือวัยกำลังหัดพูด อาจเป็นกังวลว่า ลูกไม่พูด พูดช้า หรือพูดไม่เป็นคำ ไม่มีความหมาย เมื่อเทียบกับลูกของเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ทำให้เกิดความกังวลใจว่า อาการที่ลูกพูดช้าเช่นนี้ ผิดปกติหรือไม่ ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกของตนเองกับลูกของเพื่อน ๆ ค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ไม่เท่ากัน หากกังวลว่าการที่ ลูกไม่พูด..พูดช้า นั้นเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ มาดูพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กที่ผิดปกติกันก่อนค่ะ
- ช่วงอายุ 6-10 เดือน ไม่ส่งสัญญาณการพูด ไม่หันมาตามเสียง ไม่เลียนแบบ
- ช่วงอายุ 15 เดือน ไม่สามารถทำตาม ไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ยังไม่พูดคำแรก และไม่มีภาษาทางกาย
- อายุ 1-2 ปี ไม่เริ่มการสื่อสารและไม่เข้าใจคำถามหรืออาจจะพูดไม่หยุด แต่ไม่สื่อสารในเรื่องเดียวกัน
- ช่วงอายุ 3 ปี ไม่บอกความต้องการ ไม่เข้าใจและไม่เคยใช้ประโยคคำถาม หรืออาจจะพูดเป็นภาษาสคริปต์ ที่ไม่ใช่ภาษาของเด็กวัยเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าเด็กที่มีพัฒนาการที่ผิดปกติในการพูดนั้น จะไม่มีการสื่อสาร ส่งสัญญาณเลย ดังนั้นหากลูกของคุณแม่ไม่ค่อยพูดหรือพูดช้า แต่ยังมีการสื่อสาร ส่งสัญญาณบ้าง ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ยังต้องสังเกตกันไปก่อนอีกระยะ หรือหาวิธีที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกพูดได้เร็วขึ้นมาฝึกลูกกันจะดีกว่าค่ะ แต่ก่อนอื่น มาดูความเข้าใจผิด ๆ เมื่อ ลูกไม่พูด..พูดช้า กันก่อนค่ะ
5 ความเข้าใจผิด ๆ เมื่อ ลูกไม่พูด..พูดช้า
-
การที่ลูกพูดช้า ไม่ได้หมายความว่าลูกจะหูหนวกเสมอไป
แม้ว่าปัญหาการได้ยินบกพร่องเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่พูดช้าจะเป็นเพราะบกพร่องการได้ยินทุกคน โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กได้ยินเสียง ได้ยินคนพูดกัน เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับ เข้าใจ พูดตามได้โดยอัตโนมัติ เด็กที่มีการได้ยินบกพร่องประเภทหูหนวกรุนแรงทั้งสองข้างจะสังเกตได้ง่ายว่ามีความผิดปกติ และประเภทหูไม่ได้หนวกสนิท การได้ยินบกพร่องเพียงบางส่วน เด็กยังอาจมีพัฒนาการทางภาษาได้อยู่บ้าง แต่ล่าช้ากว่าวัย เด็กบางคนพูดได้แต่ไม่ชัดเจน
เด็กปกติบางคนอาจเริ่มพูดค่อนข้างช้าเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบกว่า จนถึง 2 ขวบ ผลการศึกษาวิจัยยังได้ระบุว่า ถ้าเด็กอายุขวบครึ่งแล้วยังไม่พูด ควรเริ่มสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า เด็กเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดด้วยหรือไม่ หากมีความเข้าใจน้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ก็ไม่ควรรอจนกระทั่งถึง 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจหู และพบกุมารแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการด้านอื่น ๆ เพื่อวัดระดับการได้ยิน
2. เด็กที่ไม่ค่อยพูด..ไม่ได้เป็นออทิสติกทุกคน
โรคออทิสติก(Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม(Autism) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคม ทักษะทางภาษา และการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ ไม่ยืดหยุ่น เด็กที่เป็นออทิสติกกับความผิดปกติในพัฒนาการด้านภาษานั้นจะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนในช่วงขวบปีที่ 2 คือ เด็กจะยังไม่พูดเป็นคำ แต่จะพูดเป็นภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย ไม่สนใจของเล่น ไม่สนใจในเรื่องที่คนรอบข้างกำลังสนใจอยู่ ไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตนเอง เวลาอยากได้อะไรมักจะทำเอง หรือจูงมือพ่อแม่ไปหยิบโดยไม่ส่งเสียง ดังนั้น หากลูกคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสื่อสารในสิ่งที่ตนเองต้องการได้อยู่ ก็อาจจะหมายความว่าลูกอาจจะไม่ได้เป็นออทิสติก แต่อาจเป็นเพราะลูกปากหนักเท่านั้นก็ได้
3. พูดช้า…ไม่เท่ากับสมองช้า!!
จากความเชื่อที่ว่า..เด็กพูดเร็ว พูดมาก มักฉลาด เพราะการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ เด็กพูดเร็วแสดงว่าพัฒนาการของสมองส่วนที่เกี่ยวกับภาษามีความพร้อม และเมื่อเด็กพูดได้มาก ข้อมูลที่ได้จากการสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง ก็จะกลับไปพัฒนาความสามารถของสมองเพิ่มขึ้นอีก แล้วเด็กที่พูดช้าล่ะ? หมายความว่าเด็กคนนั้นจะไม่ฉลาดหรือ? ขอบอกว่าความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ การที่เด็กจะฉลาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ค่ะ ไม่เกี่ยวกับการที่ลูกพูดช้าหรือเร็วเลย
4. ลูกไม่ค่อยพูดกับใช้ภาษาได้ช้า..ไม่เหมือนกัน
พัฒนาการทางด้านการพูด คือสิ่งที่ลูกเปล่งเสียงออกมาจากปากของลูก แต่พัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสาร คือความสามารถในการเปล่งเสียงออกมาเป็นคำที่ผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจได้ ภาษาคือความสามารถในการเข้าใจความหมายของคำ การที่ลูกไม่ค่อยพูด แต่เมื่อพูดแล้ว สามารถที่จะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ฟังเข้าใจได้นั้น หมายความว่าพัฒนาการทางด้านภาษาของลูกนั้นปกติ เพียงแต่ไม่ค่อยชอบพูดเท่านั้นเองค่ะ
5. ลูกพูดช้า..รักษาไม่ได้
หากทราบสาเหตุของการพูดช้า แพทย์จะทำการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าความผิดปกติที่เป็นสาเหตุบางอย่าง จะไม่สามารถรักษาให้ลูกพูดได้ปกติ เช่น ความผิดปกติทางด้านสมอง แพทย์จะทำการฝึกพัฒนาการให้ตามหลักการ แต่หลังการรักษาเด็กอาจไม่สามารถพูดได้เหมือนคนปกติ แต่อาจสื่อสารได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น แต่หากสาเหตุของการพูดช้า เกิดจากการเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู พร้อมทั้งหาวิธีกระตุ้นให้ลูกพูดได้ ดังนั้น การที่ลูกพูดช้า สามารถรักษาได้
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้ว่าลูกเริ่มมีพัฒนาการในด้านนี้ช้าเกินไป ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการกระตุ้นให้ลูกพูดต่อไป และนี่คืออีก 6 วิธีที่จะช่วยฝึกลูกพูดที่ได้ผลดี
6 วิธีฝึกลูกพูด..กระตุ้นให้ลูกพูด ที่ได้ผล
-
อ่-า-น!
การอ่านหนังสือ นิทาน หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ลูกฟัง เป็นวิธีที่จะช่วยกระตุ้นลูกให้พูดที่ได้ผลดีที่สุด เพราะเมื่อเราอ่าน ลูกจะฟังและสังเกตถึงการใช้ภาษา สร้างภาษา และเรียบเรียงคำพูดของเรา ลูกจะได้เรียนรู้และทำตามคุณพ่อคุณแม่ในที่สุด
2. ร้องเพลง
เพลงมีทั้งเสียงสูง เสียงกลาง และเสียงต่ำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี และเมื่อเด็กสนใจในเสียงเพลงแล้ว ลูกก็จะค่อย ๆ ซึมซับถึงการใช้ภาษา การออกเสียง ไปด้วย
3. เติมคำพูดของลูกให้ยาวขึ้น
เมื่อลูกพูดคำสั้น ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถเติมคำพูดของลูกให้ยาวขึ้น เช่น เมื่อลูกพูดคำว่ารถไฟ ให้ตอบลูกไปว่า รถไฟวิ่งดังปู๊น..ปู๊น หรือรถไฟวิ่งเร็ว เป็นต้น การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ได้เพิ่มขึ้น และทั้งยังช่วยฝึกให้ลูกพูดเป็นประโยคได้อีกด้วย
4. เล่นกับลูก
แม่บางคนอาจบอกว่า แม่ก็เล่นกับลูกเป็นประจำอยู่แล้วนะ!! ถูกต้องแล้วค่ะ การเล่นกับลูกเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี แต่ในคราวนี้ อยากให้ลองเปลี่ยนบทบาทกันบ้าง โดยให้ลูกเป็นผู้นำในการเล่นนั้น ๆ และคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ตาม รอฟังคำสั่งจากลูก เพราะนี่คือการจัดสถานการณ์ให้ลูกพูดออกมาได้อย่างสบายใจ เพราะการพูดครั้งนั้นเป็นเพียงการเล่นกัน ไม่ใช่การพูดกับผู้ใหญ่ จะทำให้ลูกกล้าพูด กล้าแสดงออกได้มากขึ้นนั่นเอง
5. ซ่อนของเล่นที่มีเสียง!!
การให้ลูกอยู่กับกรอบที่ว่าของเล่นชิ้นนี้ต้องมีเสียงแบบนี้ ของเล่นชิ้นนั้นต้องมีเสียงแบบนั้น บางทีกรอบนี้ก็อาจไปปิดกั้นความสร้างสรรค์ของลูกได้ ดังนั้น ลองเอาของเล่นที่มีเสียงเหล่านี้ไปซ่อนก่อน แล้วนำของเล่นธรรมดา ๆ เช่น บล๊อคต่อ บ้านตุ๊กตา แป้งโดว์ มาให้ลูกเล่น แล้วให้ลูกได้สร้างสรรค์เสียงของของเล่นนั้น ๆ เอง บางทีเมื่อลูกไม่มีกรอบแล้ว อาจจะทำให้ลูกกล้าที่จะเปล่งเสียงไม่ว่าจะผิดหรือถูกออกมาได้
6. ออกไปเล่นนอกบ้าน
ให้ลูกได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ ได้ลองสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกบ้านบ้าง เพื่อให้ลูกเกิดความสงสัยและอยากรู้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะกระตุ้นลูกโดยการชี้ไปที่สิ่งต่าง ๆ และบอกว่าสิ่งนั้น ๆ คืออะไร โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดให้เป็นประโยคสมบูรณ์ เช่น ดูท้องฟ้านั่นสิ มีสีฟ้าสวยจังเลย เป็นต้น หลังจากนั้น ให้ลองชี้และถามลูกบ้างว่าสิ่งที่เจอนั้นคืออะไร เมื่อลูกได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่บ้างนั่นเอง
หากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองกระตุ้นและฝึกให้ลูกพูดแล้ว แต่ลูกยังไม่ตอบสนองหรือยังไม่ยอมพูด ก็ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาต่อไปค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เก่งไม่พอ ต้องเจ๋งด้วย! เสริมจินตนาการให้ลูกด้วย เล่นต่อบล็อกภาษาอังกฤษ ต้องพูดยังไงบ้าง
ประสบการณ์จากคุณแม่ ลูกพูดช้า สาเหตุ เพราะดูทีวี มือถือ และแท็บเล็ต
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.ourfamilyworld.com, www.rama.mahidol.ac.th, สถาบันราชานุกูล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่