วิธีการลดความเครียดของเด็ก
- การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเช่น ทานข้าวร่วมกัน ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ ให้เด็กได้ช่วยงานบ้านเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีความสุข ทำให้เด็กลืมเรื่องเครียด อีกทั้งยังทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัวด้วย
- การพูดอย่างสร้างสรรค์ และแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสมพูดในทางบวก พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดจากับเด็กให้มาก คือการพูดในทางบวก การชมเชยลูก การให้กำลังใจ ในการสอนลูก ควรใช้คำพูดที่สุภาพ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี และช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณและเด็กมีคุณภาพขึ้น
- การให้เด็กได้พบกับประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆนอกจากการเรียน เสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้เด็ก ควรให้เด็กรู้จักความผิดพลาดบ้าง เพื่อทำให้เด็กเกิดความเรียนรู้ รู้จักปรับตัวและรู้จักแก้ไขปัญหา
- การยอมรับในความสามารถของเด็กและไม่ควรบังคับเด็กให้ทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม ไม่เร่งเด็กในด้านวิชาการมากจนเกินไป และควรให้เวลากับเด็กในการเรียนรู้ปรับตัวด้านสังคมด้วย พ่อแม่ส่วนใหญ่มักมองข้ามและเร่งเด็กให้เรียนกวดวิชาเพิ่ม ทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นหรือเล่นกับเพื่อน “ทำให้เด็กขาดทักษะการเข้าสังคม” เข้ากับเพื่อนไม่ได้ และไม่รู้ว่าการเข้ากับเพื่อนต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
- รับฟังความคิดเห็นเด็กเมื่อเด็กทำผิดสิ่งที่ควรทำคือรับฟังความคิดเห็น และถามถึงเหตุผลที่เด็กกระทำสิ่งนั้นว่าคืออะไร? ทำไมจึงทำ? เมื่อทราบสาเหตุจะทำให้เข้าใจถึงการกระทำของเด็ก ส่งผลให้เราสามารถพูดคุยและสอนเด็กได้อย่างถูกต้อง และส่งเสริมให้เด็กได้แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น
“ความเครียดในเด็ก” ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องเข้าใจและดูแล อย่าปล่อยปละละเลย หากพบว่าเด็กมีอาการซึมเศร้า ผิดปกติ พ่อแม่ได้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายในครอบครัวแล้วแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาโดยเร็ว
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเครียด
- พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกอยู่เสมอ เพราะการเข้าไปพูดคุย รับฟังความคิดเห็นจากลูก จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ โดยการรับฟังปัญหาของลูก ควรตั้งใจฟัง และปล่อยให้ลูกเล่า หรือระบายออกมาจนจบ อย่าเพิ่งนำความคิดเห็น หรือรีบสั่งสอนลูก จะทำให้เขายิ่งปิดกั้น ปิดบังพ่อแม่ได้
- ไม่ควรกดดันลูกในเรื่องของการเรียน หรือระวังคำพูดที่ไปกดดันลูกที่พ่อแม่อาจไม่ตั้งใจ แต่เมื่อลูกได้ฟังแม้ลูกจะยังเด็กก็สามารถรับรู้ถึงความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อเขา เด็กยิ่งไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ก็จะรู้สึกกดดัน และเครียดได้ แต่ถ้าหากว่าเด็กเป็นคนที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก ถึงแม้พ่อแม่ไม่ได้กดดัน หรือคาดหวังอะไร แต่เด็กก็อาจจะเครียดเอง เพราะสร้างความกดดันให้กับตัวเอง โดยที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ หรือไม่ก็เกิดการเปรียบเทียบและแข่งขันกับเพื่อน เพราะฉะนั้นในสถานการณ์เดียวกัน เด็กบางคนอาจจะเครียด และไม่เครียดก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของเด็กเอง เป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกมีลักษณะเช่นไร และช่วยพูดหรือรับฟังให้ลูกได้เข้าใจและไม่เครียด
- ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือใช้วิธีการตีกับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง มองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง และอาจจะเข้าใจได้ว่าพ่อแม่ไม่รัก อีกทั้งยังทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน จนบางครั้งเกิดการเลียนแบบนำเอาวิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อตนเองนั้นไปใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน ทางที่ดีพ่อแม่ควรมีสติ และเหตุผลให้มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นควรเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเด็กอย่างสมเหตุสมผล เพราะบางอย่างเด็กอาจจะต้องการให้พ่อแม่สนใจ และเข้าใจเขา
- ให้เวลากับลูกให้มาก หรือพูดอีกแบบหนึ่ง ควรมีเวลาที่มีคุณภาพกับลูก เวลาที่มีคุณภาพ ตามแบบฉบับของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้นิยามคำนี้ไว้ให้พ่อแม่ได้เข้าใจว่า แม้เราอาจต้องทำงานหนัก แต่ควรแบ่งเวลาแม้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่พ่อแม่ให้ความสนใจ ในเวลาในช่วงนั้นกับลูกเต็มที่ รับฟัง อ่านนิทาน เล่นพูดคุยไปกับเขา เพียงเท่านี้ลูกก็สามารถรับรู้ได้ถึง พ่อแม่ที่มีตัวตน และรับรู้ถึงความรัก ความเอาใจใส่ของพ่อแม่ที่มีต่อเขาแล้ว สายใยความสัมพันธ์จะช่วยให้ลูกกล้ามาพูดคุย และเล่าปัญหาต่าง ๆ ได้ เด็กก็จะไม่เครียด
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.thaihealth.or.th/www.vichaiyut.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่