ภาวะการเติบโตหยุดชะงักในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเตาะแตะ เป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงอย่างมากที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องหันกลับมาให้ความสำคัญในการเลี้ยงดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ไปดูกันว่าจะสามารถป้องกันลูกน้อยจากภาวะการเติบโตหยุดชะงักได้อย่างไร…
ภาวะการเติบโตหยุดชะงักในเด็ก เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด?
ในช่วง 5 ขวบปีแรกของชีวิตเด็กๆ จะมีพัฒนาการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก จึงจำเป็นต้องได้รับโภชนาการสารอาหารที่ครบถ้วนอย่างเพียงพอ และเหมาะสมตามช่วงวัย แต่ถ้าหากเด็กๆ ได้รับอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพออย่างที่ควรจะได้รับตามช่วงวัย ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ทางสุขภาพที่นอกจากจะเสี่ยงต่อโรคขาดสารอาหารแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะการเติบโตหยุดชะงักในวัยเตาะแตะได้สูงมากเช่นกัน
ผลวิจัยล่าสุดเรื่องโภชนาการเด็กไทยวัยต่ำกว่า 5 ขวบ Thailand MICS 2015-2016 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กไทยมีความผิดปกติด้านโภชนาการคือ ภาวะเด็กเตี้ยแคระแกร็น (stunted) ของเด็กไทยสูงที่สุด 13% อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะ ภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) สูงสุด 11% ก็อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะเช่นเดียวกับภาวะน้ำหนักน้อย (Underweight) ประเทศไทยติดกลุ่มทุพโภชนาการเรื้อรัง มีทั้งน้ำหนักเกินและน้ำหนักน้อย ขาดสารอาหารกลุ่มวิตามินเกลือแร่ ส่งผลให้เติบโตช้า คุณแม่ต้องใส่ใจอาหารลูกให้มาก เมื่อลูก 1 ขวบขึ้นไปจัดอาหารตามวัยให้ลูกกินเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ และควรเสริมนมรสจืดเป็นอาหารว่างวันละ 2 แก้ว จะช่วยสร้างสมดุลโภชนาการวัยเตาะแตะซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมองอย่างรวดเร็วอีกช่วงหนึ่ง
หลักง่ายๆ ที่จะช่วยให้การจัดโภชนาการที่สมดุลและครบถ้วนให้เด็กวัยเตาะแตะได้รับสารอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมองสมวัยก็คือ หลักการฮีโร่และผู้ช่วย ที่ต้องทำไปพร้อมกัน ฮีโร่ คือ อาหารหลัก 5 หมู่ จัด 3 มื้อต่อวัน เช้า – เที่ยง – เย็น ส่วนผู้ช่วยฮีโร่ คือ อาหารว่างระหว่างมื้อจัด 2 มื้อต่อวัน ช่วงสายก่อนมื้อเที่ยงและช่วงบ่ายก่อนมื้อเย็น
ยกตัวอย่างการจัดอาหารมื้อหลัก เช้า ข้าวต้มไก่ เที่ยง เส้นใหญ่ราดหน้าทะเลใส่คะน้าแครอท เย็น ข้าวแกงจืดเต้าหู้หมูสับ+ไข่ตุ๋น ส่วนอาหารว่างระหว่างมื้อง่ายๆ เช่น ชงนมรสจืด 1 แก้ว ประมาณ 100 มล.ให้กินกับกล้วยลูกเล็กๆ ในช่วงสายหรือจะเป็นนมกับผลไม้อื่นตามฤดูกาล ในช่วงบ่าย และเติมนมอีกแก้วก่อนเข้านอน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมและเติมโภชนาการที่เด็กวัยเตาะแตะควรจะได้รับในแต่ละวันได้ครบ