ลูกฉายแวว ฉลาดด้านดนตรี บ้างหรือยัง? - Amarin Baby & Kids

ลูกฉายแวว ฉลาดด้านดนตรี บ้างหรือยัง?

Alternative Textaccount_circle
event

เมื่อพูดถึงความฉลาดทางด้านดนตรี คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยมักเลือกให้เป็นหนึ่งในการเรียนเสริมของลูกๆ เรามาลองดูกันว่าลูกน้อยของคุณมีความเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรีมากน้อยแค่ไหนนะครับ

ดร.ฮาร์เวิร์ด การ์ดเนอร์ ได้กล่าวถึงความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical Intelligence) ว่า “เด็กที่มีความสามารถทางด้านดนตรี จะมีความไวเกี่ยวกับเสียงที่สูงต่ำ ทำนองเพลง จังหวะดนตรี และน้ำเสียงได้ดี ตัวอย่างของบุคคลที่เป็นเลิศทางด้านดนตรีที่รู้จักกันดี ได้แก่ คุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกนั่นเอง”

คุณบัณฑิตเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันขันมาเซล – วิลาร์ (Maazel Vilar International Conducting Competition) ซึ่งเป็นการแข่งขันอำนวยเพลงรายการใหญ่และมีเกียรติสูงสุด ที่คาร์เนกีฮอลล์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2545 คุณบัณฑิตมีความหลงใหลในดนตรีมาตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มเรียนกีตาร์คลาสสิกเมื่ออายุ 13 ปี และมีโอกาสไปชมคอนเสิร์ตของวงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา วงดนตรีที่มีชื่อเสียงหนึ่งในห้าของโลกซึ่งมาเล่นในประเทศไทย ได้เห็นสุบิน เมธาร์ ผู้อำนวยเพลงชาวอินเดียที่ได้รับการยกย่องเป็นวาทยกรระดับโลก จึงเกิดแรงดลใจว่า คนไทยก็น่าจะไปถึงระดับนี้ได้ นับแต่นั้นมา คุณบัณฑิตก็หันเข็มชีวิตจากธุรกิจส่วนตัวมาสู่วงการดนตรีเต็มตัว ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จในที่สุด

นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่ผมอยากนำเสนอเรื่องราวของคนที่มีความเป็นเลิศทางด้านดนตรีนะครับ ทีนี้เรามาลองดูวิธีการวัดแววความฉลาดทางด้านดนตรีว่าลูกน้อยของคุณมีประกายหรือมีแววในข้อใดบ้างหรือไม่

1. ลูกของคุณมีความสุข สนุกสนานกับการฟังเพลงจากวิทยุ เทป ซีดี

2. ชอบเคาะมือ เคาะเท้าเป็นจังหวะ หรือผิวปาก ฮัมเพลง ในขณะทำกิจวัตรประจำวัน

3. รู้จักท่วงทำนอง จังหวะ และลีลาของเพลงต่างๆ มากมาย

4. ร้องเพลงได้ไพเราะ หรือเล่นดนตรีต่างๆ ได้เก่ง

5. มีท่วงที จังหวะ และลีลาในการพูดหรือเคลื่อนไหวที่แสดงออกทางดนตรีได้อย่างชัดเจน

6. ชอบร้องเพลงคลอตามขณะเปิดเพลง ชอบการแสดงดนตรี (Concert) ชอบเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ

7. ชอบสะสมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับดนตรี เช่น เทปเพลง เนื้อเพลง ซีดี วิดีโอเพลง เครื่องดนตรีต่างๆ เป็นต้น

8. สนใจฟังเสียงดนตรีหรือเสียงอื่นๆ รอบๆ ตัว และพยายามหาโอกาสในการฟัง สามารถคิดประกอบเสียงดนตรีหรือเสียงธรรมชาติอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

9. สามารถฟังและตอบรับเสียงต่างๆ รอบตัวแล้วเรียบเรียงเสียงประสานให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมายได้

10. สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการร้องเพลงหรือเล่นดนตรีได้ดี ทั้งการร้องเดี่ยวหรือกับคนอื่นๆ ได้

11. สามารถบอกได้ว่าโน้ตดนตรีผิดคีย์

12. ชอบใช้เวลาอยู่คนเดียวกับเครื่องดนตรีง่ายๆ สักชิ้น

13. มีความสนใจอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรี เช่น นักร้อง นักดนตรี ครูสอนดนตรี คนทำเครื่องดนตรี ดีเจ นักแต่งเพลง ผู้อำนวยเพลง เป็นต้น

14. สามารถจดจำเสียงที่เคยได้ยินแม้เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งได้

15. มักจะได้ยินเสียงเพลงจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือวิทยุก้องอยู่ในหูตลอดเวลา

 

หากสำรวจพบคุณสมบัติเหล่านี้ตั้งแต่ 12 ข้อขึ้นไป แสดงว่า เด็กคนนี้มีความฉลาดและถนัดทางด้านดนตรีครับ

ส่วนวิธีการที่จะฝึกทักษะทางด้านนี้ เช่น การแสดงบนเวที การร้องเพลง หัดให้เล่นดนตรี การใช้เครื่องดนตรี การรู้จังหวะดนตรี แต่งเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ ร้องเพลงประสานเสียง เล่นดนตรีเครื่องสาย เล่นดนตรีสากล 2 – 4 ชิ้น การทำจังหวะ การเต้นตามจังหวะเพลง การอ่านเพลงสวด การสวดมนต์ การอ่านทำนองเสนาะ หรือใช้การร้องเพลงเข้ามาประกอบในบทเรียน

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างรากฐานแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ดังเช่นคำพูดที่ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เพราะในช่วงแรกของชีวิตเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เด็กที่ได้รับการเตรียมพร้อมโดยพ่อแม่ก่อนเข้าโรงเรียนย่อมได้เปรียบกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมที่บ้าน เช่น ดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การเรียนดนตรีก็เช่นเดียวกันครับ คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากที่เข้าใจว่า เมื่อส่งลูกเข้าเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนดนตรีก็หวังจะให้ลูกน้อยประสบความสำเร็จทางด้านดนตรี แต่ไม่ได้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ดนตรีที่บ้าน เช่น เปิดเพลงให้ฟัง พาเด็กไปชมการแสดงดนตรี ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

ที่สำคัญ ดนตรีที่ส่งเสริมความคิดที่ดีนั้นต้องเป็นดนตรีที่กลั่นกรองมาดี เช่น ดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีพื้นบ้าน หมายความว่าเป็นดนตรีที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีจนผิดธรรมชาตินะครับ และวิธีช่วยลูกให้มีความฉลาดด้านต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการจัดสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การสังเกต ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และความเข้าใจที่มีให้ จะสร้างลูกให้เป็นทั้งคนดีและคนฉลาดได้ไม่ยากเลยครับ

บทความโดย: นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up