อยากให้ลูกเรียน เล่นกีฬา ดนตรีเก่งเด่นดังแบบลูกบ้านอื่นบ้างจัง มีพ่อแม่ไม่น้อยเลยค่ะที่คิดแบบนี้ แต่แค่คิดเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวลูก เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถและความถนัดไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเก่งด้านเรียนวิชาการ แต่กับเด็กอีกหลายๆ คนอาจจะเก่งด้านดนตรี ศิลปะ ภาษา ฯลฯ
เห็นไหมคะว่าความถนัดของเด็กๆ นั้นต่างกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกพ่อแม่ต้องรู้ก่อนว่าลูกของเรามีแววเด่นในด้านใด จากนั้นก็ให้ดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวลูก เอาออกมาส่งเสริมให้มีความชำนาญ และต่อยอดให้ประสบความเร็จในอนาคต
ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบปีแรก เด็กทุกคนจะมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เด็กจะมีความสนใจเป็นพิเศษในบางเรื่อง หากพ่อแม่สังเกตให้ดีก็จะพบว่าลูกมีแววเด่นในด้านใดบ้าง
พฤติกรรมความสนใจของลูกๆ คุณพ่อคุณแม่อาจซ่อนแววความถนัดทั้ง 6 ด้านนี้ไว้ก็ได้ค่ะ หากรู้หรือค้นพบเร็ว ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีศักยภาพในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ ผลลัพธ์คือไม่ใช่แค่ลูกมีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ลูกยังจะสามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จของอาชีพในอนาคตได้ค่ะ
เอาเป็นว่าเรามาค้นหาศักยภาพในตัวลูก เพื่อจะได้สร้างลูกเป็นเด็กสมองไว ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพเฉพาะตัวกันค่ะ
การค้นพบศักยภาพลูกได้เร็ว สร้างลูกให้เป็นเด็กสมองไว แม่ต้องมีเคล็ดลับ
1. ค้นพบศักยภาพลูกให้ไวขึ้นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์
เด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่เขาจะสามารถเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ตามช่วงวัยได้ดีมาก และก็ยังเป็นช่วงที่ศักยภาพทางร่างกาย สติปัญญาที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยพลังงานของการเรียนรู้ จึงแนะนำว่าพ่อแม่คือคนสำคัญที่จะช่วยในการค้นหาศักยภาพของลูกๆ การที่พ่อแม่ได้ลงไปทำกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกับลูกเป็นประจำ จะช่วยให้เห็นถึงความสนใจ และความสามารถของพวกเขาได้ชัดเจนขึ้น และเมื่อสังเกตเห็นถึงศักยภาพของลูกแล้ว ก็ควรสนับสนุนและต่อยอดให้ลูกทันทีในตอนที่ยังเป็นเด็กเล็กๆ กันอยู่นี่แหละค่ะ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์เด็ดขาด
ถ้าลูกมีแววเด่นในเรื่องภาษา ชอบตัวเลขคณิตศาสตร์ ชอบงานทดลองวิทยาศาสตร์ ชอบแกะ แคะต่อบล็อก ต่อหุ่นยนต์ ชอบเล่นเปียโน หรือมีความสุขทุกครั้งที่ได้ว่ายน้ำ ฯลฯ ก็ขอให้ส่งเสริมพวกเขาให้ได้เก่งในพรสวรค์เฉพาะด้านที่มีอยู่ในตัว ให้ลูกได้ฉายแววเด่นที่มีออกมาให้เต็มศักยภาพมากที่สุดค่ะ
2. การค้นพบศักยภาพลูกได้เร็ว เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวลูก
2.1 ให้ลูกค้นพบความชอบจากการเล่น
การเล่นของลูกอย่ามองว่าป็นแค่เรื่องเด็กเล่น เพราะทุกกิจกรรมที่ลูกเล่นสนุกอาจซ่อนความถนัด แววเด่นเฉพาะตัวไว้ก็ได้ค่ะ เช่น ลูกชอบเล่นสำรวจธรรมชาติ สวนหลังบ้านนี่รู้หมดว่าต้นไม้ ดอกไม้อะไร มีมด มีผีเสื้อชนิดไหน หรือชอบเอากล่องลังใส่ของมาฉีก แปะ พับ ต่อเป็นรูปสัตว์ เป็นบ้านของเล่น เป็นต้น ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกเล่นอะไรบ่อยๆ มีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่น ขอให้รู้ไว้ค่ะว่านั่นอาจเป็นความถนัดที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้คิดต่อยอดเพิ่มเติมให้เต็มไปด้วยศัยกภาพเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้นได้
2.2 จัดกิจกรรมให้มีความหลากหลาย
หากพ่อแม่ค้นพบแล้วว่าลูกของเราชอบเล่นอยู่กับกิจกรรมใดเป็นพิเศษ และก็มีแววว่าลูกจะสนใจมากยิ่งขึ้น จนนำไปต่อยอดสู่อนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้น จำเป็นอย่างมากที่ควรจะต้องสนับสนุนให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ เกิดแรงจูงใจ และความประทับใจ เช่น การ พาไปพิพิธภัณฑ์ ชมนิทรรศการ ฟังดนตรี การอ่านวรรณกรรมสำหรับเด็ก การเล่นกีฬา การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การเล่มเกมที่ต้องอาศัยการคิดและกลยุทธ์ เป็นต้น การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ หลากหลายจะช่วยให้พวกเขามีภาพว่าอยากทำอะไร อยากเรียนรู้อะไร และอยากมีอาชีพเป็นอะไรเมื่อโตขึ้นค่ะ
2.3 ลูกไม่ได้เก่งทุกด้าน
เด็กๆ ทุกคนบนโลกใบนี้มีความเก่ง ความสามารถในแต่ละด้านไม่เท่าและไม่เหมือนกัน รวมถึงลูกของคุณพ่อคุณแม่ด้วย ดังนั้นไม่ควรไปคาดหวังว่าลูกเราจะต้องเก่งให้ได้เท่ากับเด็กคนอื่น เพราะอะไรรู้ไหมคะ?
มีการศึกษาวิจัยผู้ที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นอัจฉริยบุคคลในแต่ละสาขา พบว่า ในวัยเด็กของคนเหล่านี้ ผู้ปกครองไม่ได้ตั้งความคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นอัจฉริยะ แต่เป็นผู้ปกครองที่มองเห็นศักยภาพลูกตามความเป็นจริง และให้การสนับสนุนในด้านที่ลูกมีพรสวรรค์ และในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือในด้านที่ลูกไม่ถนัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อค้นพบความถนัดในตัวลูกน้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมุ่งเน้นพัฒนาดิ่งเดี่ยวเพียงด้านเดียวแล้วละทิ้งการส่งเสริมในด้านอื่นๆ เพราะในอนาคตที่มีการแข่งขันสูง สังคมต้องการคนที่มีทักษะมีศักยภาพสูง 2-3 ด้าน ซึ่งทักษะความสามารถทุกๆ ด้านจะสามารถนำมาบูรณาการและช่วยเกื้อหนุนกัน อันจะให้เด็กยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น
พลังของพ่อแม่มีส่วนสำคัญในการช่วยค้นหาศักยภาพที่อยู่ในตัวลูกอย่างมากค่ะ เพราะเด็กที่ได้รับการส่งเสริมให้ได้ทำ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตัวเองถนัด เขาจะเรียนรู้และทำออกมาได้ดี ที่สำคัญยังจะส่งผลไปถึงเรื่องที่ไม่ถนัดที่ก็ทำออกมาได้ถึงจะไม่ดีมากแต่ก็ไม่ได้แย่จนเกินไป ดังนั้นช่วงวัยแรกเกิด ถึง 6 ปีแรก พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้แววเด่นในตัวลูกลดลงอย่างเด็ดขาดค่ะ
และเพื่อให้รู้ว่าที่ผ่านมาคุณพ่อคุณแม่ได้มีส่วนส่งเสริมศักยภาพในตัวลูกบ้างหรือไม่ เรามี “แบบประเมินพ่อแม่ในการส่งเสริมศักยภาพ” ของลูกน้อย มาให้ได้ลองทำกันค่ะ
ฉันมักจะหาเวลาพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ เสมอ
ฉันยินดีที่จะหาหนังสือ ของเล่น หรือวัสดุที่ลูกมีความสนใจ อยากเล่น หรือใช้ประดิษฐ์
ฉันจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ
ฉันเอาใจใส่คำถามของลูก ไม่เพิกเฉยต่อคำถามของลูกที่ฉันเองก็ไม่รู้คำตอบ
ฉันให้ลูกทดลองปฏิบัติเอง เพื่อช่วยให้ลูกค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
ฉันให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของลูก ไม่ใช่เพียงผลลัพธ์สุดท้าย
ฉันส่งเสริมให้ลูกเผชิญกับปัญหาที่พบในชีวิตประจำวันและให้แก้ปัญหาด้วยตนเอง
ฉันส่งเสริมให้ลูกมีความคิดเป็นของตนเอง ถึงแม้จะต่างจากความคาดหวังของฉัน
ฉันเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว
ฉันเตรียมพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านไว้ให้ลูกทำกิจกรรมต่างๆ เช่น มุมของเล่น มุมหนังสือ
ฉันอนุญาตให้ลูกเล่นในสิ่งที่เขาสนใจ แม้ว่าอาจจะเลอะเทอะหรือทำให้บ้านรกไปบ้าง
ฉันยอมลูกให้มีประสบการณ์ของการผิดพลาดบ้าง แทนการที่ฉันเป็นผู้แก้ไขให้เสียเอง
ฉันหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ไม่” “อย่าทำ” “ห้าม” “หยุดเลย” กับลูก
ฉันมักจะแสดงความภูมิใจในผลงานสร้างสรรค์ของลูก เช่น การแปะผลงานลูกที่ผนัง
ฉันมีความสุขที่จะใช้เวลาว่างทำกิจกรรมต่างๆ กับลูก แม้ว่าจะเหนื่อยจากการทำงานมาก็ตาม
เรามาดูเกณฑ์คะแนนที่ได้กันค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่หลังจากทำแบบประเมินนี้แล้ว ได้คะแนนเท่าไหร่ ที่จะชี้วัดได้ว่าพ่อแม่เองนั้นได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมลูกให้ค้นพบศักยภาพในตัวออกมากันแค่ไหนค่ะ
ผลคะแนนจากแบบประเมิน
1. หากผลประเมินออกมาได้ 11 คะแนนขึ้นไป
ถือว่าพ่อแม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้และค้นพบศักยภาพของตนเอง
2. หากผลประเมินออกมาได้ต่ำกว่า 11 คะแนน
อาจจะยังไม่ได้ส่งเสริมลูกในการค้นหาศัยกภาพได้ดีเท่าที่ควร แนะนำว่าควรใส่ใจในสิ่งที่ลูกสนใจ หรือเรื่องที่ลูกทำออกมาได้ดีมาก ไม่ว่าจะเรื่องการเรียนวิชาการ หรือกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
การเลี้ยงลูก หรือสนับสนุนส่งเสริมให้พวกเขาเป็นเด็กเก่งสมองไว และเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพไม่ใช่เรื่องยาก และไกลตัว หากพ่อแม่ให้ความสำคัญ ใส่ใจลูกในทุกเรื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด ถึง 6 ปีของชีวิตค่ะ
ข้อมูลโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธาวัลย์ หาญขจรสุข สำหรับ S-MomClub https://www.facebook.com/