สอนลูกเตาะแตะให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา - Amarin Baby & Kids
สอนลูกให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

สอนลูกเตาะแตะให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูกให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา
สอนลูกให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

การรับรู้ความรู้สึกของคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นสำคัญ เพราะลูกเราไม่ได้อยู่เพียงคนเดียวบนโลกใบนี้ เขาต้องสื่อสารและใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นอีกมากมายในสังคม  เพราะฉะนั้น การสอนให้เขารู้จักทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ อาจเร็วไปสักหน่อยหากจะหวังให้ลูกวัยเตาะแตะเลิกปฏิบัติต่อเพื่อนๆ และคนอื่นรอบตัวราวกับเป็น “สิ่งของ” แต่ก็ไม่นับว่าเร็วเกินไปหรอกที่จะสอนเขาว่า คนอื่นๆ ก็มี “หัวใจ” เหมือนกันนะ

จากการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า เด็กที่คุณพ่อคุณแม่หมั่นสอนเรื่องการคิดถึงจิตใจผู้อื่นให้ลูกฟังอยู่เสมอ จะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางสังคมที่ดีกว่า และทักษะนี้จะติดตัวลูกไปจนถึงอายุราวๆ 8 ขวบเลยทีเดียว (จนกว่าเพื่อนจะเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิด)

นิโคลา ยูอิล อาจารย์สาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ ในอังกฤษ บอกว่า คุณควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าทุกคนล้วนเป็นคนสำคัญและต้องการการปฏิบัติที่ดีเช่นเดียวกับเรา เรามีวิธีดังต่อไปนี้มาแนะนำค่ะ

1. ชี้ให้เห็นตัวอย่างจริง

เช่น ชี้ชวนให้ลูกดูคนที่กำลังยิ้มหรือทารกที่กำลังร้องไห้โวยวาย แล้วถามความเห็นลูกว่าทำไมเขาถึงแสดงอารมณ์อย่างนั้น

2. ถามความคิดของลูก

ขณะที่อ่านหนังสือหรือดูหนัง ลองช่วยถามเป็นแนวทางว่าตัวละครตัวนี้ทำอย่างนี้แล้วคนอื่นน่าจะรู้สึกอย่างไร ขอแถมข้อดีอีกข้อว่า ยิ่งคุณแม่ใช้น้ำเสียงที่อบอุ่นในการพูดคุยเท่าไร ลูกก็มีแนวโน้มจะเป็นเด็กดีเชื่อฟังมากขึ้นเท่านั้นด้วย

3. อธิบายเพิ่ม เมื่อลูกเผลอทำอะไรไม่คิดถึงคนอื่น

เวลาเจ้าตัวเล็กเล่นอยู่ในกลุ่มเพื่อน แล้วเขาเกิดไปแย่งของเล่นใครเข้า อย่าบอกลูกแค่ว่า “คืนเขาไป มันไม่ใช่ของลูกนะ” (ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กไม่คิดแบบนั้น เขาคิดว่าทุกอย่างเป็นสมบัติของเขาทั้งนั้น) แต่ให้อธิบายเพิ่มเติมว่า “หนูเอาตุ๊กตาของเพื่อนไป เขาเสียใจนะลูก หนูจำได้ไหมว่าตอนที่เคยมีเพื่อนคนอื่นเอาตุ๊กตาหมีของหนูไป หนูเสียใจมากแค่ไหน” หรือเมื่อลูกทุบหรือตีเพื่อน อย่าบอกแค่ว่า “อย่าไปตีเขา” แต่ควรเสริมว่า “การที่หนูไปตีเพื่อน มันทำให้เขาเจ็บนะลูก”

4. ชื่นชมเมื่อลูกแสดง “น้ำใจ”

ในทางตรงข้าม ถ้าลูกแสดงน้ำใจกับเพื่อน ก็ให้บอกว่า “ดูสิจ๊ะ ว่าเพื่อนเขามีความสุขขนาดไหน เวลาหนูแบ่งขนมให้เขา” พร้อมหยอดคำชม “หนูเป็นเด็กดีมากเลยจ้ะ”

 

แม้จะต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ กว่าเจ้าตัวเล็กจะรู้จักแคร์คนอื่นอย่างแท้จริง หากการค่อยๆ สอนเขาแต่เนิ่นๆ ว่าคนอื่นก็มีความรู้สึกเหมือนกัน นับเป็นการวางรากฐานอันดีที่จะช่วยปลูกฝังเรื่องการเห็นอกเห็นใจเพื่อน มนุษย์ต่อไปในวันข้างหน้านะคะ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up