วิธีพูดเมื่อ ลูกโกหก
ปัญหาที่ลูกชอบพูดโกหก เป็นหนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อ คุณแม่เครียด และเป็นกังวลใจ แล้วจะทำอย่างไรดีเมื่อลูกน้อยพูดโกหก ลองมาดูตัวอย่างบทสนทนานี้ แล้วลองนำไปปรับใช้กันดูค่ะ
“วันก่อนลูกขอเงินแม่ไปซื้อขนม แม่ขอดูหน่อยได้มั้ยลูกว่าซื้ออะไรมาบ้าง”
หากลูกน้อยพูดโกหก แต่รู้สึกผิด กลัวว่าจะถูกจับได้ ลูกจะแสดงออกทางสีหน้าแสดงถึงความไม่สบายใจ ก้มหน้านิ่ง ไม่กล้าสบตา หากสังเกตเห็นอาการดังกล่าวอย่าเพิ่งแน่ใจว่าลูกน้อยกำลังโกหก รอฟังคำตอบของลูกก่อน
“ดูสีหน้าลูกไม่ค่อยดี มีอะไรจะบอกแม่หรือเปล่าคะ”
ลูกน้อยอาจจะยังไม่กล้าพูดอะไร ให้คุณแม่วางมือลงบนไหล่ลูกอย่างอ่อนโยน เพื่อให้เขาคลายความกังวลใจลง
“ผมทำเงินหายครับ แม่จะลงโทษผมไหม ถ้าผมทำเงินหาย”
เมื่อลูกสารภาพผิด อย่าเพิ่งต่อว่าเขา ให้นั่งลงสบตาเขา เด็กทุกคนย่อมกลัวการถูกลงโทษ เขาอาจกำลังโกหก หรือหาทางที่จะทำให้ได้รับการลงโทษน้อยลง จึงแต่งเรื่องราวต่างๆ เพื่อที่จะทำให้พ้นความผิด หากคุณแม่สามารถแสดงออกมา และพูดคุยกับลูกอย่างมีเหตุผล เขาจะสารภาพความจริง เพราะจริงๆ แล้วเด็กๆ มีความฉลาด พิจารณาด้วยตัวเองได้ว่า การสารภาพและสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีกจะทำให้เขาไม่ถูกลงโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง
แต่หากคุณพ่อ คุณแม่สังเกตแล้วว่าลูกยังคงโกหก ให้บอกเขาว่าถ้าลูกโกหก พ่อแม่จะเสียใจแค่ไหน
“ลูกไม่ได้โกหกแม่ใช่มั้ยคะ เพราะถ้าลูกโกหก แม่คงจะเสียใจมากเลย”
เขาอาจจะร้องไห้ หรือทำตัวไม่ถูก คุณแม่ควรกุมมือลูกไว้อย่างอ่อนโยน และพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนเพื่อสั่งสอน
“มีอะไรต้องบอกแม่ตรงๆ ห้ามโกหกเด็ดขาด เพราะมันจะกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี ติดตัวลูกไปจนโต คนโกหกเป็นที่รังเกียจของคนอื่น ไม่มีใครอยากคบด้วย ลูกเข้าใจมั้ยคะ”
“ผมเข้าใจแล้วครับ ต่อไปผมจะไม่ทำอีก”
คำมั่นสัญญาของลูก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกสบายใจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้ลูกมีสติ เตือนลูกน้อยว่าอย่าทำในสิ่งที่ไม่ดี เพื่อชีวิต และอนาคตของลูกน้อยเอง แม้ลูกจะยังเล็ก เขาก็สามารถภูมิใจในตัวเองได้ และเป็นลูกที่มีจิตใจที่ดีด้วยการไม่โกหก
ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิตยสารธรรมดี (ออนไลน์)
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
6 วิธีเข้าใจและสอนลูก เมื่อลูกพูดโกหก!
ลูกชอบพูดโกหก เพราะพ่อแม่เข้มงวดกับลูกมากไป
ลูกชอบโกหกบ่อยๆ กลัวจะติดเป็นนิสัย แก้อย่างไรดี?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่