สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกได้รับมือถือ
- ขั้นแรก ต้องเลือก “กิจกรรมสำหรับใช้มือถือ แท็บเล็ตที่เหมาะสมกับวัย” ไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้โปรแกรมต่างๆ เช่น โปรแกรมเขียน การทำสไลด์เพื่อนำเสนอ โปรแกรมวาดรูป เป็นต้น รวมถึงฝึกการค้นข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต
- ควรใช้มือถือ แท็บเล็ตไปพร้อมกับลูก เพราะจะช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างคุณกับลูก รวมทั้งคุณยังสามารถช่วยให้เขาเข้าใจที่กำลังเรียนรู้ผ่านการใช้มือถือ แท็บเล็ตมากขึ้น
- อย่าให้ใช้มือถือ แท็บเล็ตในห้องส่วนตัวของเขา แต่ควรให้ใช้มือถือ แท็บเล็ตในที่ที่คนในครอบครัวเดินผ่านไปมา เพื่อป้องกันการเข้าเว็บไซต์ต้องห้ามต่างๆ รวมถึงคุณแม่ควรติดตั้งโปรแกรมสำหรับบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กด้วยค่ะ และยังช่วยกำกับดูแลเรื่องเวลาที่ลูกอยู่หน้าจอด้วย
- ถามคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังทำผ่านมือถือ แท็บเล็ต เพื่อฝึกฝนทักษะการคิดและทักษะการแก้ปัญหา แทนที่จะเพียงแค่ใช้มือถือ แท็บเล็ต เช่น เราควรเริ่มต้นโปรแกรมนี้อย่างไร ถ้าเราย้ายข้อมูลจะต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ เด็กวัยเรียนยังสนุกกับการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ไม่ควรเชื่อทุกๆ ข้อมูลในนั้นและต้องมีวิจารณญาณในการเลือกใช้ข้อมูลที่สืบค้นได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกลูกให้รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาผ่านการตั้งคำถามดังต่อไปนี้
- ใครเป็นเจ้าของเว็บไซต์นี้ เป็นบุคคล หรือองค์กร มหาวิทยาลัย หรือรัฐบาล
- ข้อมูลที่มีอยู่มีจุดประสงค์เพื่ออะไร เพื่อขายของ หรือ เผยแพร่ความรู้ หรือากำลังโน้มน้าวให้เชื่อหรือทำอะไรหรือเปล่า
- ข้อมูลนี้เชื่อถือได้หรือเปล่า ข้อมูลในเว็บไซต์ได้มาจากที่ไหน เช่น มีหลักฐานหรือทำการทดลอง หรือเป็นความเชื่อส่วนตัว
- ข้อมูลนี้มีความสำคัญหรือไม่ ส่งผลให้เกิดอะไร ต่อใคร
- “เพื่อนที่รู้จักทางออนไลน์ทุกคน” เป็นคนธรรมดาทั่วไป หรือเป็นคนที่มีวัตถุประสงค์อื่น เช่น จะโน้มน้าวให้ซื้ออะไรหรือเปล่า
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ลูกจะตอบได้ทุกคำถาม แต่การฝึกตั้งคำถามเหล่านี้จะช่วยลดความสับสน หรือข้อมูลที่มีท่วมท้นให้ลูก และทำให้เขาไม่ต้องมัวเสียเวลา “อ่านข้อมูลที่ไม่จำเป็น”
หมอขอฝากไว้ค่ะ “คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดีในการบริหารจัดการเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้มีความหลากหลายและสมดุล และอย่าลืมว่าเทคโนโลยีมีไว้เพื่อให้มนุษย์ใช้งานในการก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ แต่ไม่ควรให้เทคโนโลยีมาทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวละเลยกับกิจวัตรและกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมกับวัยค่ะ และการเลี้ยงลูกในยุค “ไฮเทค” ไม่จำเป็นต้อง “โลว์ทัช” นะคะ”
บทความโดย: พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร