เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นฆาตกร คำถามที่เกิดขึ้นในใจของพ่อแม่ บ่อยครั้งที่ได้เห็นข่าวการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ความรุนแรงต่างๆ รวมถึงคดีสะเทือนขวัญประชาชนที่เกิดขึ้น พบว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นเยาวชน หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไข หรือป้องกันได้หรือไม่
เรามีบทความ “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นฆาตกร” โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่ให้คำแนะนำเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ
Q : ปัจจุบันเราจะได้ยินข่าวฆาตกรรม ข่มขืน หรือคดีสะเทือนขวัญมากขึ้นโดยผู้ก่อคดีกลับเป็นเยาวชนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ในฐานะพ่อแม่ เราจะเลี้ยงลูกและปลูกฝังเขาอย่างไรไม่ให้ลูกกลายเป็นฆาตกรดีคะ แล้วจริงหรือไม่ที่ละครหรือเกมมีส่วนทำให้เด็กๆ มีพฤติกรรมที่ไม่ดีตามได้
A : ความจริงอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์ที่อธิบายการกำเนิดของอาชญากรได้ดีกว่าจิตวิทยาทั่วไปหรือจิตวิเคราะห์ ความรู้ที่เราได้จากจิตวิทยาหรือจิตวิเคราะห์พอจะประมวลได้ดังนี้
1. ผู้ร้ายมีหลายประเภทหากดูเฉพาะโจรลักทรัพย์
โจรมี 2 ประเภท คือประเภททำร้ายคน และไม่ทำร้ายคน
พวกไม่ทำร้ายคนจะคอยหลบเลี่ยงเจ้าทรัพย์ อาจจะล้วงกระเป๋าหรือย่องเบา แต่ไม่อยากทำร้ายใคร พวกทำร้ายคนและฆ่าคนเพื่อชิงทรัพย์เป็นอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไรก็ตาม ทั้งสองพวกมีข้อเหมือนกันอยู่บ้างคือ ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงความทุกข์ของผู้อื่น เรียกว่า ไร้ความสามารถที่จะมี Empathy โจรลักทรัพย์ไม่เข้าใจว่าคนที่สูญเสียทรัพย์เจ็บปวดอย่างไร
อันนี้เฉพาะประเด็นจิตวิทยา เรื่องขี้เกียจ เห็นแก่ตัว ไม่ยอมทำงานเอง เป็นอีกประเด็นเรื่องสังคม คนตกงาน ไม่มีงานให้ทำ ก็เป็นอีกประเด็น เมื่อไม่เข้าใจเสียแล้วก็ลงมือได้ง่าย ไม่คิดมากผู้ร้ายที่ฆ่าคนได้เป็นตัวอย่างของการสูญเสียความสามารถนี้สมบูรณ์แบบ นั่นคือไม่รู้เลยว่าการกระทำของตนสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเหยื่ออย่างไร ยังไม่นับเรื่องพฤติกรรมทารุณและฆ่าสัตว์ ไม่เข้าใจว่าสัตว์รู้สึกอย่างไรการสร้าง Empathy คือความสามารถในการล่วงรู้และเข้าใจจิตใจของสิ่งมีชีวิตร่วมโลก จึงเป็นเรื่องควรปลูกฝังให้เด็กเล็ก
แต่เรื่องนี้ไม่เกิดจากการสั่งสอน หากเกิดจากการบ่มเพาะทางจริยธรรม และควรเข้าใจด้วยว่าจริยธรรมมิใช่ศีลธรรมศีลธรรมสอนให้ไม่ฆ่านั้นดีแล้ว แต่ไม่มีผลต่อเด็กเล็กเท่าไรนักจริยธรรม หรือ Ethics ในความหมายที่ว่า คนเราควรประพฤติปฏิบัติต่อส่วนรวมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีผลต่อพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กมากกว่า และได้ผลกว่า หากส่วนรวมดี ตัวเราก็จะดีด้วย นี่เป็นหลักการพื้นฐานของจริยธรรม