วัดแววฉลาด ลูกเก่งด้าน "ภาษา" หรือเปล่า - Amarin Baby & Kids

วัดแววฉลาด ลูกเก่งด้าน “ภาษา” หรือเปล่า

Alternative Textaccount_circle
event

ตามที่เราทราบกันมา ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาแบบเดิมเน้นแต่เชิงภาษา คณิตศาสตร์ และความคิดเชิงตรรกะ สังเกตได้จากแบบทดสอบด้านไอคิวซึ่งจะตอกย้ำสามด้านนี้เช่นกัน ขณะที่ในทางการแพทย์ก็เน้นเพิ่มอีก 4 ด้าน คือ ร่างกาย ภาษา การเรียนรู้ และสังคม

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1983 โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เสนอนิยามเชาวน์ปัญญา หรืออัจฉริยภาพใหม่เป็น 8 ด้าน กลายเป็นที่มาของทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences of Howard Gardner) ซึ่งประกอบด้วย

  1. ด้านภาษา (Linguistic)
  2. ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical – Mathematical)
  3. ด้านดนตรี (Musical)
  4. ด้านร่างกายและความเคลื่อนไหว (Bodily – Kinesthetic)
  5. มิติสัมพันธ์ (Spatial – Visual)
  6. ด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal)
  7. ด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal)
  8. ด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalistic)

สำหรับในบทความนี้ขอนำเสนอความฉลาดด้านภาษาเป็นตอนแรกครับ

ความฉลาดด้านภาษาเป็นความสามารถในการเลือกใช้ถ้อยคำที่แสดงออกในการสื่อความหมาย ควบคุมการเรียบเรียงประโยคออกมาเป็นประโยคที่สื่อความหมายตามหลักภาษา จึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กเป็นอย่างมาก เพราะหากพัฒนาการด้านนี้มีความบกพร่องหรือช้ากว่าคนอื่น จะมีผลกระทบมากต่อโอกาสทางการเรียนรู้ รวมถึงการศึกษา

ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีความฉลาดด้านภาษา เช่น สื่อสารกับคนอื่นโดยใช้ภาษาได้อย่างดี มีนิสัยรักการอ่าน มีความสามารถเรียนรู้ภาษาอื่นได้ดีและรวดเร็ว ชอบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นต้น เราจะพบในคนเหล่านี้ เช่น กวี นักเขียน นักพูด นักการเมือง คนเล่านิทาน เป็นต้น

การพัฒนาทักษะทางภาษา

บางครั้งเด็กยังไม่อาจแสดงแววทางภาษาที่ชัดเจน อาจมีมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความพร้อมทางร่างกาย บุคลิกภาพส่วนตัวที่ไม่ชอบพูด ไม่ชอบแสดงออก ดังนั้น พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เด็กมีความกล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นตัวเอง พร้อมเสริมประสบการณ์ด้านภาษา เช่น เริ่มจากอ่านนิทานให้ฟัง (โดยเริ่มได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์) เล่นเกมทางภาษา ปริศนาคำทาย หมั่นอธิบายความหมายสิ่งต่างๆ สอนคำศัพท์ภาษาต่างๆ เล่นเกมสะกดคำทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน เป็นต้น

ช่วยหาหลักสะกดคำยากให้ง่ายขึ้น ตัวอย่าง endangered ควรแบ่งเป็น 2 – 3 อักษร เช่น en-dan-ger-ed เด็กจะจำได้ง่ายและสะกดได้ถูกต้อง สนุกกับการจำศัพท์ยากๆ สนับสนุนนิสัยรักการอ่าน ไม่ว่าเขาจะชอบหนังสือแบบไหน ที่สำคัญ ถ้าจะสอนภาษาที่สองหรือสามก็ต้องสอนกันตั้งแต่ยังเล็กๆ จะได้เป็นธรรมชาติ จำได้ง่ายกว่า รอพ้นวัย 3 – 4 ขวบจะช้าเกินไปครับ อาจใช้บัตรคำที่ด้านหนึ่งมีรูปภาพ อีกด้านเป็นตัวอักษรทั้งภาษาอังกฤษและจีน เช่น น้ำ ก็มีรูปน้ำในแก้วหรือน้ำตก มีคำว่า water และ shui (สุ่ย) ซึ่งมีทั้งอังกฤษ และจีน เป็นต้น

แต่อย่าลืมนะครับว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แต่ละคนล้วนมีความเป็นปัจเจก มีความสามารถเฉพาะตน พ่อแม่ไม่ควรบังคับ ต้องทำให้เด็กมีความต้องการเอง มีความสุข สนุกสนานในทุกกิจกรรมที่เราร่วมส่งเสริมเขา พ่อแม่มีหน้าที่สังเกตความถนัด ความสนใจ ต้องกระตุ้นให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กครับ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีความสม่ำเสมอ ทำทุกวันเป็นชีวิตประจำวัน ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด จะอาศัยหรือหวังจากทางโรงเรียนนั้นไม่พอ เช่น ถ้าจะให้ลูกเรียนหรือพูด 2 – 3 ภาษา (ซึ่งที่จริงเด็กก่อนอนุบาลทำได้สบายมาก) พ่อแม่ก็ต้องพูดภาษานั้นๆ กับเขาที่บ้านทุกวัน กระตุ้นให้เด็กได้แสดงออก เป็นนักเล่าเรื่อง ลูกไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง ส่งเสริมการเขียนบันทึกประจำวัน และเข้าร่วมกิจกรรมทางภาษาเมื่อมีโอกาสครับ

แบบสำรวจแววด้านความฉลาดทางภาษา

  1. พูดได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน
  2. สนใจอ่านทุกอย่างที่ผ่านพบ เช่น ป้ายโฆษณา ถุงใส่กล้วยแขก เป็นต้น
  3. ชอบเล่านิทาน
  4. พูดหรือเขียนได้ดี รู้จักใช้คำเหมาะสม ใช้ภาษาได้สละสลวย
  5. เข้าใจเรื่องที่อ่านหรือฟังได้อย่างรวดเร็วและแจ่มแจ้ง
  6. สามารถเรียนรู้ภาษาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
  7. สนใจและชอบศึกษาที่มาของคำศัพท์ต่างๆ
  8. ชอบเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ (Crossword) เป็นต้น
  9. ใช้ภาษาที่ลุ่มลึกและก้าวหน้าเกินวัย ชอบกิจกรรมด้านภาษา เช่น อภิปราย โต้วาที
  10. มีความสนใจที่จะเขียนหนังสือ ชื่อ และคำต่างๆ ก่อนเด็กวัยเดียวกัน
  11. สามารถจดจำและใช้คำใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
  12. ชอบอ่านหนังสือที่มีตัวหนังสือมากกว่าที่มีแต่รูปภาพ
  13. ชอบจดบันทึก
  14. ชอบมีหนังสือพกติดตัว
  15. เข้าร่วมกิจกรรมทางภาษาทุกครั้งที่มีโอกาส

หากสำรวจพบคุณสมบัติเหล่านี้ตั้งแต่ 11 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเด็กคนนี้มีความฉลาดทางภาษา

 

บทความโดย: นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up