พูดประชดลูก – บางเวลาที่พ่อแม่อย่างเรามีอารมณ์โกรธ รู้สึกเหนื่อยล้า สภาวะจิตใจไม่ปกติ อาจมีโอกาสที่จะหลุดปาก เอ่ยคำพูดที่ไม่ดีกับลูกออกไป เป็นคำพูดที่พ่อแม่ไม่ทันได้คิดไตร่ตรองก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะคำพูดเสียดสีประชดประชัน ความจริงเหนือสิ่งอื่นใด คำพูดคือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ คำพูดในเชิงลบที่เราไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนพูดออกไปให้ลูกได้ยิน อาจทำลายความรู้สึกและสร้างบาดแผลในใจเด็กได้มากกว่าที่เราคิด และท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งความรู้สึกไม่ไว้ใจพ่อแม่ พฤติกรรมติดลบ ขาดความสุข ซึมเศร้า และหนักที่สุดอาจถึงขั้นเกลียดพ่อแม่ไปเลย
ผลเสียของการ พูดประชดลูก พ่อแม่ต้องหยุด ถ้าไม่อยากให้ลูกเกลียด!
ผู้ปกครองต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้คำพูดเสียดสีประชดประชัน พ่อแม่บางคนอาจมีความเชื่อผิดๆ ว่าการพูดเชิงประชดประชันลูกจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก หรือสอนวินัยให้แก่ลูกได้ แต่คำพูด ถือเป็นสิ่งที่สามารถกัดกร่อนความรู้สึกของลูกมากกว่าที่เราคิด และอาจบ่มเพาะความรู้สึกและพฤติกรรมที่ไม่ดีติดตัวลูกไปจนโตได้ นอกจากนี้ยังส่งผลเชิงลบในระยะยาวต่อสุขภาพ และพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ จากที่พ่อแม่คิดว่าพูดไปอย่างนั้น ไม่ได้คิดอะไรและอาจจะลืมไปแล้วว่าเคยพูด แต่สิ่งที่พูดออกไปอาจกลายเป็นเรื่องที่เจ็บปวดของลูก เด็กไม่เข้าใจว่าการประชดประชันคืออะไร การประชดประชันจะทำให้เด็กรู้สึกสับสนและหงุดหงิด และไม่มีวันลืมเลือนความรู้สึกนั้นได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรระมัดระวังและรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่เป็นอันตราย
โดยทางจิตวิทยาแล้ว ความรู้สึกและพฤติกรรมทุกอย่างของเด็ก มักมีที่มาที่ไปเสมอ เมื่อเด็กถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด ประชดประชัน เหน็บแนมโดยเฉพาะจากคนเป็นพ่อแม่ จะสามารถพัฒนาให้เกิดเป็น นิสัย พฤติกรรม และอารมณ์ความรู้สึกดังต่อไปนี้ได้
- ดื้อต่อต้าน การใช้คำพูดประชดประชัน ด้วยความตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจก็ตาม ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลดีต่อลูก ยกตัวอย่าง หากมีญาติพี่น้อง พูดชื่นชมลูกของเราว่า เก่งจังเลย ช่วยแม่ทำงานบ้านด้วย แล้วแม่กลับพูดตอบไปให้ลูกได้ยินด้วยว่า “ทำไปงั้นแหละ ทำไม่ได้สะอาดเท่าไหร่หรอก” ประโยคนี้หากใครได้ฟังและเจอกับตัวเอง แน่นอนว่าต้องรู้สึกแย่ไม่มากก็น้อย เมื่อความรู้สึกข้างในของลูกเป็นลบต่อพ่อแม่ เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะมีพฤติกรรมดื้อหรือต่อต้านแนวทางต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องการสั่งสอน และรู้สึกไม่อยากที่จะอยู่ฝั่งเดียวทีมเดียวกับพ่อแม่
- ซึมซับการพูดประชดประชัน เสียดสี หากพ่อแม่ชอบใช้วาจาในเชิงประชดประชันกับลูกหรือกับคนรอบข้างบ่อยๆ เด็กๆ อาจเคยชินกับการที่พ่อแม่พูดในลักษณะดังกล่าว เพราะเด็กก็เหมือนกับฟองน้ำ ที่มักจะซึมซับ และเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของพ่อแม่ จนพัฒนาเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ลูกจะเกิดการเรียนรู้และรับรู้ว่าการพูดประชดประชันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถทำได้ เมื่อโตขึ้นก็อาจพูดจาตำหนิเสียดสีคนอื่นเหมือนกับว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่รู้สึกผิดและคิดไม่ได้ ว่าพฤติกรรมของตัวเองจะไปกระทบกระเทือนจิตใจคนอื่นอย่างไร และอาจหลงคิดไปเองว่าทำได้และทำให้ตัวเองดูเหนือกว่าผู้อื่นเสมอ
- ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่ที่ต้องการสอนให้ลูกเชื่อฟังปลูกฝังลูกให้มีพฤติกรรมที่ดี แต่กลับเลือกใช้วิธีการพูดในเชิงประชดประชันลูกบ่อยๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะยิ่งทำให้ลูกไม่เชื่อฟังและไม่เชื่อถือพ่อแม่มากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น การพูดกับลูกว่า “ถ้าลูกไม่ฟังที่แม่พูด ก็ไม่ต้องมาเป็นแม่ลูกกันอีก ต่างคนต่างอยู่” เป็นต้น เมื่อเด็กรู้สึกว่าคำพูดของพ่อแม่ไม่น่าฟัง ฟังแล้วไม่เข้าหูเป็นธรรมดาที่ลูกจะเกิดความรู้สึกไม่อยากฟัง ไม่อยากสนใจ ใส่ใจ ไม่ชื่อถือในคำพูดคำสอนของพ่อแม่ที่ไม่ตรงไปตรงมาอีกต่อไปด้วยการที่พ่อแม่ชอบใช้คำพูดเสียดสีประชดประชัน
- นับถือตัวเองต่ำ บางบ้านประชดประชันลูกจนติดเป็นนิสัย แต่หารู้ไม่ว่า คำพูด คำจาที่เป็นพิษต่างๆ ของพ่อแม่ สามารถทำให้เด็กกลายเป็นคนที่มีความนับถือตัวเองต่ำได้ ยิ่งการพูดประชดเหน็บแนมในเรื่องความสามารถของลูก ยิ่งทำให้ลูกบ่มเพาะความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองท้ายที่สุดจะตามมาด้วยความรู้สึกนับถือในตัวเองต่ำได้ เช่น หากคุณครูโทรมาพูดชมลูกให้ฟังว่า น้องเรียนเก่งหัวไวนะคะ แต่เรากลับตอบคุณครูไปให้น้องได้ยินว่า “น้องหัวไวจริงเหรอคะ อยู่ที่บ้านนี่ยังทำอะไรเองไม่ค่อยจะเป็นเลย..แล้วตามด้วยเสียงหัวเราะ”
บางครั้งที่พ่อแม่พูดไปอาจไม่ได้คิดลบอะไร แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม การพูดในทำนองประชดประชันหรือดูถูกความสามารถของลูก เพื่อหวังกระตุ้นให้ลูกเกิดความรู้สึกฮึกเหิมอาจใช้ได้เพียงบางสถานการณ์เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่คำพูดลักษณะนี้ มักกระตุ้นความรู้สึกในทางลบได้มากกว่า ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกถูกด้อยค่าและความสำคัญ ส่งผลให้ขาดแรงจูงใจและไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ ที่ตัวเองโดนทำให้ด้อยค่า หรือคิดว่าทำได้ไม่ดีอีกต่อไป - ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ ไม่มั่นคงทางจิตใจ เด็กที่ถูกพ่อแม่ใช้คำพูดประชดประชัดเสียดสีบ่อยๆ หรือพูดติดตลก คิดน้อยไป เช่น ตำหนิเรื่องของรูปลักษณ์ของลูก เช่น แม่พูดว่าลูกเป็นประจำ ว่า “กินให้มันน้อยๆ หน่อย ดูสิตัวอ้วนดำเป็นหมูแล้ว ดูเพื่อนๆ คนอื่นสิ เค้าดูดีกันทั้งนั้น” เมื่อเด็กได้ยินคำพูดที่ตีตราจากพ่อแม่ในเรื่องของรูปลักษณ์ตัวเอง หรือถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ดีกว่า คำพูดเหล่านี้สามารถพัฒนาให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ เด็กจะกลายเป็นเด็กที่ควบคุมอารมณ์โกรธได้ไม่ดี และมีการแสดงออกที่ก้าวร้าวได้
- ไม่เคารพผู้ใหญ่ บางครั้งที่ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่น่ารักกับเรา การสอนด้วยเหตุและผล ว่าอะไรควรไม่ควร ด้วยแนวทางวินัยเชิงบวก คือวิธีที่ดีที่สุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก แต่หากว่าพ่อแม่เลือกที่จะเปิดสงครามกับลูกด้วยการเปิดบทสนทนาในเชิงลบ เลือกที่จะโต้เถียงทะเลาะกับลูกด้วยการพูดในลักษณะ ประชดประชันเหน็บแนมต่างๆ นา ๆ หากบ่อยเข้า จะสามารถสร้างเป็นความรู้สึกด้านลบของลูกที่มีต่อพ่อแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลูกมีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นเด็กที่ไม่เคารพผู้ใหญ่ ทั้งนี้ก็เพราะแทนที่ผู้ใหญ่ในสายตาลูกอย่างพ่อแม่จะเป็นที่พึ่ง หรือที่ปรึกษาในการใช้ชีวิตแต่กลับทะเลาะกับลูกอย่างไร้เหตุผลและขาดวุฒิภาวะเสียเอง
- เข้าสังคมกับผู้อื่นได้ยาก เมื่อแม้แต่คนที่บ้านอย่างพ่อแม่ที่เป็นเสมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ผู้ที่ควรให้ความอบอุ่นและความรู้สึกปลอดภัยทางกายและใจ ยังทำให้ลูกรู้สึกสนิทใจด้วยไม่ได้จากการที่ชอบพูดประชดประชันลูก เป็นธรรมดาที่เด็กๆ อาจกลายเป็นคนที่เข้ากับผู้อื่นได้ยาก มีนิสัยคิดลบ ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ เพราะกลัวคนอื่นคิดไม่ดีกับตัวเอง ขาดทักษะที่จำเป็นในการเข้าสังคม และนำไปสู่การหวาดระแวงต่อสังคมได้มากกว่าปกติ
- เป็นโรคซึมเศร้า พ่อแม่ที่ชอบพูดจาประชดประชันลูกจนติดเป็นนิสัย มีคำพูดที่เป็นพิษ คอยทำร้ายจิตใจทำลายความรู้สึกลูกได้ทุกวันทั้งวัน เช้า กลางวัน เย็น ยันก่อนนอน แน่นอนว่า เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกติดลบบ่อยๆ นานวันเข้า จิตใจลูกก็จะเป็นเหมือนตลิ่งที่โดนน้ำกัดเซาะไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ จนพังทลาย กล่าวคือ เด็กจะเกิดความเครียดสะสมและพัฒนาระดับความเครียดนั้นจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์ต่อไป
แน่นอนว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกป่วยใจหรือป่วยกาย แต่สิ่งที่เราปฏิบัติจนเคยชินจนเป็นนิสัย อาจไปทำร้ายจิตใจลูกมากกว่าที่เราคาดคิด ดังนั้นการระมัดระวังการแสดงต่อลูกออกอย่างเหมาะสม ทั้งการกระทำและคำพูดจึงเป็นส่งที่ไม่ควรมองข้าม
เพราะการกระทำและคำพูดของพ่อแม่ คือ ส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเด็ก ให้เป็นคนที่มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจสมบูรณ์เหมาะสมตามวัย การสอนลูกด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ใช้เหตุและผล และแนวทางการสอนลูกเชิงบวก จะช่วยเสริมสร้างให้ลูกเกิดทักษะความฉลาดที่รอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดทางอารมณ์ EQ ได้ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตให้มีความสุขในสังคม เมื่อลูกมีความฉลาดทางอารมณ์ที่ดี ก็จะสามารถแสดงออกต่อคนรอบข้างด้วยพฤติกรรมที่เหมาะสม รับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้ลูกสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และพัฒนาปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : focusonthefamily.ca , เพจหมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก , เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา , thaichildrights.org