วิธีคิดแบบเด็กๆ ที่สำคัญได้แก่
- animism คิดว่าอะไรเคลื่อนไหวได้ล้วนมีชีวิต ดังนั้นให้เขาเล่นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาให้อิ่ม
- ego-centricism คิดว่าเรื่องราวรอบตัวล้วนเกี่ยวพันกับตัวเอง ดังนั้นเรายังต้องใช้เวลาช่วง 2-5 ขวบทำให้เขารู้ว่าเขามีบ้านและกติกาของบ้าน มีสังคมและกติกาของสังคมที่จะต้องเรียนรู้ เขามิใช่ศูนย์กลางของจักรวาลดังที่เข้าใจ
- magical thinking คิดเชิงเวทมนตร์ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่นี่คือวิธีคิดที่เปี่ยมล้นจินตนาการและไร้ขอบเขต เปรียบเสมือนทำสนามฟุตบอลกว้างไว้ก่อน อย่างอื่นว่ากันทีหลัง
- phenomenalistic causality คิดว่าเหตุการณ์สองอย่างที่เกิดพร้อมกันเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน พูดง่ายๆ ว่าจับแพะชนแกะ ปล่อยเขาจับแพะชนแกะให้พอก่อนที่จะต้องไปพบเหตุและผลจริงๆ ที่โรงเรียน
ในทางปฏิบัติ ช่วง 4-5 ขวบเป็นเวลาที่เด็กจะได้ฝึกช่วยตนเองอย่างจริงจัง กินข้าว แปรงฟัน แต่งตัว ฝึกทำงานบ้านส่วนที่เป็นเรื่องของตัวเอง เก็บที่นอน เทกระโถน เก็บจานของตนเอง ฝึกทำงานบ้านส่วนที่เป็นของสาธารณะ ช่วยกวาดบ้านถูบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน ซักผ้าตากผ้า และฝึกทำตามกติกาสังคมนอกบ้าน รู้จักรอคอย รู้จักเข้าคิว รู้จักแบ่งปัน เรื่องเหล่านี้ที่จริงแล้วเราควรทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาใช้มือใช้เท้าได้ดี และเข้มข้นขึ้นทุกปีที่ผ่านไป ผลลัพธ์สุดท้ายที่เราจะได้คือเขาภูมิใจที่ช่วยตนเองและควบคุมอารมณ์ตนเองได้ นี่จึงเป็นความพร้อมที่แท้ก่อนไปโรงเรียน
ในทางทฤษฎี เด็กๆ จะพร้อมปะทะมนุษย์คนอื่นได้อย่างดีคือเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเมื่ออายุมากกว่า 6 ขวบขึ้นไป เรียนรู้วิธีปะทะสังสรรค์ ทะเลาะเบาะแว้งตบตี และคืนดีช่วยเหลือกันและกัน ธรรมชาติของพัฒนาการจะเป็นผู้ดูแลพฤติกรรมเหล่านี้ให้เองเพราะเด็กๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอยู่แล้ว ส่งไปโรงเรียนเร็วเกินไปเขาทำเรื่องพวกนี้ไม่เป็น เกิดปัญหาอารมณ์แทรกซ้อนเสียเปล่าๆ
เรื่อง : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
ภาพ : Shutterstock