หมอแนะพฤติกรรมแบบนี้ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม แบ่งปัน - Amarin Baby & Kids
ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม

หมอแนะพฤติกรรมแบบนี้ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม แบ่งปัน

Alternative Textaccount_circle
event
ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม
ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม

แบ่งปัน พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคม การให้ลูกยอมแบ่งของให้แก่คนอื่น แม้เขาจะทำตามแต่นั่นเป็นการปลูกฝังลงไปในจิตใจลูกจริงหรือ และแท้จริงแล้วควรทำอย่างไร?

หมอแนะพฤติกรรมแบบนี้ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม แบ่งปัน

ก่อนอื่นอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ฟังแนวคิดดี ๆ ในการสอนลูกเกี่ยวกับการแบ่งปันกัน จากรายการ Happy Parenting EP.6 | สอนลูกเรื่องแบ่งปัน เป็นคลิปที่นำเสนอเทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวก สอนให้ลูกมีน้ำใจ จากคุณหมอ รศ.นพ.ศิริไชย  หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  ฟังแล้วจะได้ข้อคิดและเทคนิคดี ๆ ที่เราจะนำมากล่าวถึงกันอีกครั้งอย่างละเอียดให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นแนวทาง และข้อควรระวังที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องการเลี้ยงลูกนั้นสำคัญทุกขั้นตอนเสมอ

เชื่อว่าทุกบ้านที่มีลูก ต้องเคยประสบปัญหาหนักใจในเรื่องที่ลูกไม่ยอมแบ่งปันของเล่น หรือสิ่งของของลูกให้แก่เด็กอื่น พี่น้อง เพื่อน หรือแม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง อย่าพึ่งเครียดและตีความกันไปเสียก่อนแล้วว่า ทำไมลูกเราเป็นอย่างนี้นะ ไม่เห็นเหมือนลูกบ้านนั้น บ้านนี้เลย ไม่น่ารักเลย เพราะก่อนที่เราจะดุด่า แสดงท่าทีผิดหวังให้ลูกเห็น เราต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า แท้จริงแล้วลูกแสดงพฤติกรรมหวงของนั้น เป็นเพราะเขาไม่รู้จักแบ่งปันจริงหรือ หรือเป็นเพียงแค่ธรรมชาติของเด็ก หรืออาจเป็นแค่เหตุผลส่วนตัวของลูกที่เราไม่เข้าใจเองกันแน่

ของชิ้นนี้หนูหวง

คุณพ่อคุณแม่เคยมีของรักของหวงกันบ้างไหม แม้ในยามที่เราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ก็เชื่อว่ายังคงมีของหลาย ๆ อย่างที่เราหวงแหนไม่อยากให้ใครมาเอาไป หรือจับต้องจนเสียหาย เด็กก็เช่นกัน แม้ว่าของชิ้นที่ลูกหวง อาจดูไร้ค่า ไม่สำคัญในสายตาคุณพ่อคุณแม่ แต่มันมีความหมาย มีค่าสำหรับลูกของคุณอย่างแน่นอน สังเกตง่าย ๆ ได้จากการที่ลูกชอบถือไปไหนมาไหนแทบตลอดเวลา แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะนี่คือธรรมชาติของเด็กวัย ในช่วง 2-3 ขวบ เด็กจะเติบโตขึ้น จากที่เคยติดแม่ก็อยากแยกออกมาเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีธรรมชาติของการอยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของพยายามทำนั้นทำนี้เพราะเขาเริ่มรู้แล้วว่าเขามีตัวตนเพื่อที่จะแยกจากแม่ “หนูทำเองได้!” และ “อันนี้ของหนู” คือประโยคประจำตัวของเด็กๆ วัยนี้

สัญญาณของการมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้น ก็คือ เด็กจะเริ่มติดคนนั้นคนนี้ หรือติดของชิ้นนั้นชิ้นนี้  เด็ก 1 ขวบ มักจะหวงแม่ ไม่ให้แม่ไปอุ้มหรือเล่นกับเด็กคนอื่น ส่วนเด็ก 2 ขวบก็จะหวงของเล่น  เด็กบางคนติดตุ๊กตามากจนมันเก่าเป็นผ้าขี้ริ้ว เป็นส่วนสำคัญในชีวิตไปเลย เด็กบางคนเวลาบอกให้วาดรูปตัวเอง ก็จะวาดรูปตุ๊กตาหมีที่ตัวเองรักไว้ในแขนเสมอ ราวกับว่ามันเป็นอวัยวะส่วนที่ 33

อย่าบีบคั้น…จงรอจนถึงวัยที่ลูกพร้อม

การแบ่งปันที่แท้จริง หมายถึงการรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีน้ำใจ และมองสถานการณ์อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบมักจะทำได้ยากมาก เพราะสมองเขายังไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นนั้น ดังนั้นเรามาลองทำความรู้จักกับพัฒนาการของลูกในเรื่องของการแบ่งปันกันว่าในแต่ละช่วงวัยเขาสามารถรับรู้เรื่องทางสังคมได้มากน้อยแค่ไหน

แบ่งปัน ด้วยใจห้ามบังคับ
แบ่งปัน ด้วยใจห้ามบังคับ

ลักษณะพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย(อายุ 1-6 ปี)

1.พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัยแรกเกิดถึง 1 ปี

ด้านสังคม เด็กจะเริ่มหันหน้าเมื่อมีคนเรียกชื่อ ยิ้มให้คนอื่น เลียนแบบกิริยา ท่าทางของคน แสดงออกถึงการรับรู้ อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น ติดแม่ เข้าใจท่าทางและสีหน้าของคนอื่น กลัวคนแปลกหน้า บอกความต้องการได้ แยกตัวเองและเงาในกระจกได้ เข้าใจท่าทางและสีหน้า สนใจการกระทำของผู้อื่น ชอบเล่นคนเดียว หวงของ ชอบมีส่วนร่วม บอกสิ่งที่ต้องการด้วยคำพูดง่ายๆ รู้จักขอ

2.พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 2 ปี

ด้านสังคมเล่นร่วมกับผู้อื่น แต่ยังคงต่างคนต่างเล่นอยู่ เริ่มที่จะเล่นเป็นกลุ่มกับเด็กอื่นให้ความสนใจตนเองหรือยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ยอมแบ่งปันสิ่งของหรือของเล่นให้กับเด็กวัยเดียวกัน ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องการเข้าห้องน้ำและแต่งตัวเองได้

3.พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 3 ปี

ด้านสังคม การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นยังไม่แน่นอนแล้วแต่อารมณ์ของเด็ก เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเล่นคนเดียว หรือเล่นสมมุติมากกว่าจะเล่นกับคนอื่น ชอบเล่นแบบคู่ขนาน คือ เล่นของเล่นชนิดเดียวกันแต่ต่างคนต่างเล่น ขณะที่เล่นชอบออกคำสั่ง ทำหรือพูดเหมือนกับสิ่งนั้นมีชีวิต รู้จักการรอคอย เริ่มปฏิบัติตามกฎ กติกาง่ายๆ รู้จักทำงานที่ได้รับมอบหมาย เริ่มรู้ว่าสิ่งใดเป็นของคนอื่น

4.พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 4 ปี

ด้านสังคม เริ่มเล่นร่วมกับผู้อื่นได้ แต่มักจะเป็นเพศเดียวกันกับตนมากกว่า การแบ่งปันจึงมักเป็นการแบ่งให้เฉพาะคนที่ถูกใจ มักโกรธกันแต่ไม่นานเด็กก็จะกลับมาเล่นกันอีก รู้จักการให้อภัย การขอโทษ มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย รู้จักเก็บของเล่น มีมารยาทในการอยู่ร่วมกัน

5.พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัยระหว่าง 5-6 ปี

ด้านสังคม เล่นกับเพื่อนโดยไม่เลือกเพศและสามารถฝึกกติกาง่าย ๆ ในการเล่นได้ จึงทำให้เริ่มเห็นว่าลูกรู้จักการแบ่งปันของเล่นกับเพื่อนได้ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ เล่นหรือทำงานโดยมีจุดหมายเดียวกัน รู้จักไหว้ทำความเคารพเมื่อพบผู้ใหญ่

พัฒนาการทางสังคม กับการ แบ่งปัน
พัฒนาการทางสังคม กับการ แบ่งปัน

จากลักษณะพัฒนาการทางสังคมของเด็ก ทำให้เรารู้ได้ว่าการที่พ่อแม่จะบังคับ หรือบีบคั้นให้ลูกรู้จักการแบ่งปันก่อนวัยที่เขาจะเข้าใจเรื่องการแบ่งปันได้นั้น เป็นเรื่องที่เด็กไม่สามารถเข้าใจถึงหลักการแท้จริงของการแบ่งปันได้เลย ส่วนใหญ่ที่เห็นลูกยอมทำตามแบ่งของให้ผู้อื่นนั้นเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการทำตามคำสั่งของพ่อแม่เท่านั้น ลูกแบ่งปันเพราะพ่อแม่สั่ง เพราะได้รับการให้เงื่อนไขกับเขาเพื่อให้เขาแบ่งปัน เช่น แบ่งแล้วแม่จะให้ของชิ้นใหญ่กว่าเดิมอีกนะ เป็นต้น

ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่มีพฤติกรรมการบังคับ หรือวางเงื่อนไขเพื่อให้ลูกแบ่งปันนอกจากจะไม่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้ลูกเมื่อโตแล้ว ยังกลับเป็นการทำให้ลูกยิ่งหวงของมากขึ้น หรือถ้าเป็นการบังคับให้พี่แบ่งของให้น้องเพราะโตกว่า ก็อาจทำให้พี่รู้สึกไม่ชอบน้อง อิจฉากันอีกต่างหาก

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า วัยที่ลูกพร้อมจะเรียนรู้ในเรื่องการแบ่งปันนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่คาดหวังให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ยอมแชร์ของง่าย ๆเพราะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ยังเล่นด้วยกันไม่เป็น มักจะเล่นข้าง ๆ กันเฉย ๆ มองกัน แต่ไม่เล่นด้วยกัน เขายังสนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจความรู้สึกของเด็กอื่นว่าจะชอบ หรืออยากมาเล่นกับเขาหรือไม่ จึงไม่รู้สึกอยากแบ่งปัน ไม่แคร์

ไม่บังคับ แต่ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกได้

เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีถึงแม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจการเข้าสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสอนเรื่องการแบ่งปันแก่ลูกไม่ได้ แต่เป็นการสอนแบบแสดงตัวอย่างให้เขาเห็น ลูกจะได้คุ้นชิน คุ้นเคยกับพฤติกรรมการแบ่งปัน เมื่อลูกถึงวัยที่ต้องการเข้าสังคม อยากมีเพื่อนเล่น รู้จักเล่นกับเด็กคนอื่นแล้ว เขาก็จะเลือกวิธีการเข้าหาเพื่อนด้วยการแบ่งปันเหมือนที่เขาเห็นจากพ่อแม่ เด็กที่หวงของตอน 2 ขวบ ก็จะกลายเป็นเด็กใจดี รู้จักแบ่งปันเมื่อเขาอายุ 3  หรือ 4 ขวบได้

เมื่อเราจะทำพฤติกรรมเป็นตัวอย่างการแบ่งปันให้ลูกเห็น อาจจะต้องเพิ่มคำพูดเน้นย้ำถึงพฤติกรรมนั้น และชี้ข้อดีของการแบ่งปันให้ลูกเห็น เพื่อที่จะให้เขาเข้าใจ ซึมซับ และเห็นประโยชน์ในการแบ่งปัน เขาก็จะปฎิบัติตาม เช่น วันนี้แม่ทำอาหารเผื่อไว้ให้คุณป้าข้างบ้าน เดี๋ยวเราออกไปให้คุณป้ากันนะ เพราะวันก่อนคุณป้าพึ่งแบ่งขนมที่ลูกชอบมาให้

ความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อแม่กับลูก คือคะแนนสะสม

เด็กจะรู้จักให้ก็ต่อเมื่อเขาเคยเป็นผู้ถูกให้มาก่อน มักจะสังเกตได้ว่า เด็กที่ได้รับความรักและใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ในช่วง 2 ปีแรก จะกลายเป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปันในภายหลัง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เพราะเด็กที่เคยเห็นตัวอย่างการแบ่งปันจากพ่อแม่ จึงมักจะซึมซับและทำตามอย่างที่เขาเคยเห็น และเหตุผลที่สอง คือ เด็กที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ อยู่กับพ่อแม่ตลอดมักจะเป็นเด็กที่มีความรู้สึกมั่นคง ไม่รู้สึกขาดความรัก เห็นคุณค่าในตนเอง จึงมักจะต้องการสิ่งของน้อยกว่า ไม่ยึดเอาสิ่งของมาเป็นที่พึ่งทางใจมากเกินไป เพราะเขารู้ว่ามีพ่อแม่เป็นเพื่อนที่เข้าใจอยู่แล้ว จึงไม่ติดตุ๊กตาหรือผ้าห่มจนขาดไม่ได้

เมื่อลูกรู้สึกได้ว่าเขาได้รับความรักที่เพียงพอแล้วจากพ่อแม่ เขาก็จะเกิดพฤติกรรมการแบ่งปันได้ง่ายขึ้น เพราะรู้สึกว่ามีความรักมากพอที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง และความไม่ยึดติดกับของ ไม่มีของหวง ก็เหมือนลูกได้รับคะแนนสะสมจากพ่อแม่มาก่อนแล้ว พอถึงวัยที่เขาพร้อมเข้าใจหลักการแบ่งปัน เขาก็จะทำได้ดี และเร็วกว่า

แบ่งปันเพื่อน
แบ่งปันเพื่อน

เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

การให้ลูกเรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน ครั้งแรกนั้นสำคัญ เพราะในครั้งแรกถ้าเขามีความรู้สึกที่ดีต่อการที่ลูกได้แบ่งปันสิ่งของออกไปแล้วนั้น โอกาสที่เขาจะเกิดพฤติกรรมนั้นอีกก็ย่อมมากกว่าเป็นธรรมดา

  • ลองให้ลูกเริ่มแบ่งปันในครั้งแรกจากเหตุการณ์ที่ตัดสินใจได้ง่าย เวลาจะสอนให้แบ่งปัน ควรจะเริ่มให้ลูกแบ่งกับคนที่อายุน้อยกว่า หรือเพื่อนที่เงียบ ๆ ก็จะทำได้ให้เขามีความรู้สึกอยากทำตามที่เราแนะนำได้ง่ายกว่า เมื่อลูกทำตามเราก็ต้องรีบชมเชยให้เขารู้สึกดีต่อการกระทำนั้น แต่ถ้าลูกยังคงยืนกรานไม่แบ่งก็ไม่ต้องบังคับเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการแบ่งปันในครั้งต่อ ๆ ไป
  • จับเวลาใช้นาฬิกาทราย หรือนาฬิกาจับเวลามาใช้ เวลาจะแบ่งอะไรให้เล่นกัน คนละ 2 นาที คือ เวลาที่กำลังพอดีสำหรับเด็กเล็กที่จะให้รอ หรือสำหรับเด็กโตอาจจะให้รอได้นานกว่านี้ เวลานาฬิกาทรายบอกหมดเวลา ก็ให้เปลี่ยนกันเล่น เป็นต้น แต่เมื่อถึงครบกำหนดเวลา เราจะให้เด็กเป็นคนยื่นของคืนมาให้ตามกติกาที่วางไว้ ไม่ดึงจากมือมาเลยแม้จะทำถูกตามกติกาที่ตกลงไว้ก็ตาม การดึงเช่นนั้นจะทำให้กลายเป็นเด็กก้าวร้าวรุนแรง เพราะโดนขัดใจ ให้เราชี้จุดให้เด็กเห็นถึงอนาคตว่า ถ้านาฬิกาดังอีก ก็จะได้เล่นอีกครั้ง ไม่ไปย้ำด้านลบ เช่น หมดเวลาของหนูแล้ว ห้ามขี้โกง เพราะเป็นคำพูดที่ทำให้ไม่อยากทำตามเนื่องจากโดนตีตราว่าไม่ดีไปแล้ว
  • เล่นเกมแบ่งปัน  เป็นการฝึกที่แยบยลแบบหนึ่ง เพราะเขาจะไม่รู้ตัวว่าถูกสอน แต่ลูกจะได้เห็นผลลัพธ์แห่งการแบ่งปันนั้นเลยโดยไม่รู้ตัว และเมื่อเขารู้สึกดี การทำพฤติกรรมซ้ำก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เช่น การพาลูกเล่นกีฬา เพราะกีฬาต้องอาศัยการร่วมมือถึงจะได้รับชัยชนะ

สรุปวิธีการส่งเสริมให้ลูกรู้จักแบ่งปัน

เคล็ดลับหลัก ๆ ในการสอนลูกเรื่องการแบ่งปัน ไม่ว่าจะวิธีไหนก็จะต้องมีใจความสำคัญหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  1. พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในการแสดงพฤติกรรมการแบ่งปัน
  2. ชี้ให้เห็นข้อดีของการแบ่งปัน เพื่อให้เกิดการซึมซับและปฎิบัติตาม
  3. แสดงความชื่นชมเมื่อลูกมีการแบ่งปัน

หลักส่งเสริมพฤติกรรมการแบ่งบันให้แก่ลูกง่าย ๆ เพียงแค่ 3 ข้อนี้ ก็จะทำให้ลูกมีจิตใจที่ดีงาม เป็นที่รักของผู้คนรอบข้าง ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีแก่เขาในวันข้างหน้าว่า ลูกจะได้พบแต่สิ่งดี ๆ และมีความสุขในชีวิต

ขอขอบคุณคลิป และข้อมูลอ้างอิงจาก RAMA CHANNEL / Friendforkids

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

สร้างลูกให้มี SQ (Social Quotient) ไม่ก้าวร้าว ไม่เอาเปรียบ ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตอย่างมีความสุข

ค่านิยมทาง “ศีลธรรม” 10 ประการที่พ่อแม่ควรสอนลูก

เลี้ยงลูกให้ “พี่น้องรักกัน” คุณเองก็ทำได้!

วิจัยเผย 5 ผลร้าย! ตวาดใส่ลูก บ่อย ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง-ร่างกาย-จิตใจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up