ในวัยประมาณ 2 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจความแตกต่างของคำว่า ใหญ่ ใหญ่กว่า และใหญ่ที่สุด ทั้งยังประเมินขนาดของตัวเองได้ค่อนข้างถูก แต่บางครั้งกลับไม่สนใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะตอนที่กำลังคิดจะทำอะไรกับวัตถุหรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ลูกวัยเตาะแตะของคุณรู้ดีว่าเขาตัวใหญ่กว่าเก้าอี้โยกในบ้านตุ๊กตา แต่ก็รู้ด้วยว่าของสิ่งนี้คือเก้าอี้แบบหนึ่ง เขาจึงพยายามจะเบียดตัวเองลงไปให้ได้อยู่ดี
หนูน้อยจะทำอะไรได้เหมาะสมกว่านี้เมื่อโตขึ้น แต่สำหรับตอนนี้คุณอาจสอนลูกเล่นเกมต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เขาเรียนรู้เรื่องขนาดและสัดส่วนเร็วยิ่งขึ้น
1. เรียงของ
ช่วยกันเรียงของเป็นตั้งๆ โดยไล่จากขนาดใหญ่ที่สุดไปจนถึงเล็กที่สุด เช่น เรียงกล่องใส่ซีเรียลขนาดใหญ่ไว้ล่างสุด แล้วเรียงขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ไว้ข้างบนทีละชั้น จนมีกล่องน้ำสับปะรดขนาดจิ๋วอยู่บนสุด
2. ครอบครัวของฉัน
สั่งพิมพ์ภาพครอบครัวสัก 3 – 4 แผ่น โดยปรับขนาดให้แตกต่างกัน แล้วสอนลูกให้ลองสังเกตว่า ภาพไหนมีขนาดเล็ก เล็กกว่า และเล็กที่สุด
3. ใช้ของใกล้ตัว
ให้ลูกเล่นถ้วยตวงพลาสติกที่มีหลากหลายขนาด หรือชุดภาชนะพลาสติกที่เรียงไล่ตามขนาดคล้ายเถาปิ่นโต
4. เลือกเตียงให้ตุ๊กตา
หาตุ๊กตาและภาชนะที่มีขนาดแตกต่างกัน (เช่น กล่องรองเท้า และตะกร้าผ้า) สักอย่างละ 3 – 4 ชิ้น แล้วให้ลูกหาเตียงที่มีขนาดเหมาะสมกับตุ๊กตาแต่ละตัวมากที่สุด
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง