การพัฒนาสมองของลูกน้อยในช่วง 1-5 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงเวลาทองที่สมองลูกรักมีพัฒนาการสูงสุดและเติบโตถึง 85% ของสมองผู้ใหญ่ การเรียนรู้ทุกวินาทีจึงเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้…
Non-Stop Learning คือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สมองทำงานอย่างต่อเนื่องและเกิดความเชื่อมโยงที่แน่นหนา ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากฝีมือของคุณแม่ >> มาดูกันว่าคุณแม่คนดังมีเทคนิคการเลี้ยงลูกแบบ Non – Stop Learning อย่างไรบ้าง
คุณเกม-ดวงพร ปฐวีกานต์ คุณแม่ลูกสองของน้องโสนกับน้องสวรรค์
“เกมเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาแม้แต่ในกิจวัตรในชีวิตประจำวันง่ายๆอย่าง การกินข้าวเอง เพื่อให้ลูกได้หัดใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็กให้คล่อง ต่อยอดการเรียนรู้ด้วยการสอนเรื่องชื่ออาหาร สีสัน หรือจำนวน โดยให้ลองเปรียบเทียบขนาดหรือจับกลุ่มประเภทของอาหาร โดยเฉพาะในวัย 3 ขวบ โสนจะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ รอบตัว เกมก็จะกระตุ้นเขา โดยชวนให้หาคำตอบไปพร้อมกัน ส่วนน้องสวรรค์ ตอนนี้น้องยังทานนมแม่ ก็จะให้ความสำคัญกับโภชนาการโดยเลือกอาหารที่ช่วยสร้างเซลล์สมองอย่างดีเอชเอ ควบคู่กับการกระตุ้นพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การร้องเพลงหรือพูดคุยกับเขา แม้แต่ชวนโสนมาคุยกับน้องด้วยค่ะ”
………………..
คุณเมย์-ปทิดา กำเนิดพลอย กับลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน น้องมายู
“ถึงตอนนี้มายูยังเล็ก แต่เซลล์สมองเค้าเชื่อมต่อเป็นพันๆ ล้านเซลล์แล้ว ทุกนาทีเค้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เมย์จะสรรหากิจกรรมสนุกๆ เล่นกับลูกโดยคำนึงถึงวัยเป็นหลัก เช่น ตอนนี้น้องกำลังอยู่ในวัยช่างสำรวจ เราก็เล่นซ่อนของแล้วให้มายูตามหาเพื่อฝึกฝนการสังเกต จดจำและหัดแก้ปัญหาง่ายๆ ส่วนตอนเด็กกว่านี้เมย์จะร้องเพลงให้ฟังเพื่อให้ลูกอารมณ์ดี มีสุขภาพจิตแจ่มใส แต่การเรียนรู้ต้องมาพร้อมกับร่างกายที่พร้อม เมย์ก็จะใส่ใจเรื่องโภชนาการแก่ลูกโดยจัดอาหารที่ครบคุณค่าในแต่ละมื้อ และดื่มนมที่เสริมดีเอชเอเพราะดีต่อสมอง เพื่อเตรียมความพร้อมทุกทางเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Non-stop Learning ค่ะ”
………………..
คุณหญิงแอร์ – ม.ร.ว. จันทรลัดดา ยุคล อุบลเดชประชารักษ์ คุณแม่เซเลบริตี้คนดัง
“น้องพลายชอบรถของเล่นมากจนจำชื่อยี่ห้อต่างๆ ได้แม่น เราเลยใช้ของเล่นที่ลูกชอบมาประยุกต์เป็นการเรียนรู้เพิ่ม เช่น สอนเรื่องแบ่งแยกสี ทิศทางซ้าย-ขวา หรือคำศัพท์ต่างๆ เมื่อเขาได้เรียนรู้พร้อมกับการเล่นในสิ่งที่เขาชอบ เขาก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ครอบครัวเราชอบเดินทางท่องเที่ยว เพราะอยากให้ลูกได้เรียนรู้โลกกว้าง นอกจากเขาจะได้วิ่งเล่น ฝึกกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวแล้ว เขายังได้สัมผัสประสบการณ์จริงไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการเท่านั้น ที่สำคัญตัวพ่อแม่เองเป็นต้นแบบของลูก เพราะสมองของลูกในช่วงวัยนี้จะจดจำและเลียนแบบพ่อแม่ เราอยากให้ลูกเป็นแบบไหน เราก็ต้องประพฤติตัวเป็นแบบนั้นค่ะ”
……………….
คุณอุ้ย-สุทัศนีย์ ซอโสตถิกุล คุณแม่สาวทำงานคนสวย
ตอนนี้น้องกายชอบอ่านหนังสือและสนใจในการอ่านมาก ดังนั้นอุ้ยก็จะส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเขาด้วยการซื้อหนังสือ pop-up สนุกๆ หรือที่มีเสียงดนตรี และต่อยอดเช่นหาตุ๊กตาผ้ามาเล่าเรื่องประกอบให้ลูกรู้จักเรื่องของสัมผัสเพิ่มเติม เล่าเรื่องด้วยโทนเสียงสูงต่ำ อุ้ยเชื่อว่าการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกที่ดีจะต้องครบทั้งไอคิวและอีคิวค่ะ”
………………..
คุณหนิง-คนึงนิจ มฆวัตสกุล คุณแม่ลูกแฝดสี่สาว เจ้าของบล็อกPetite 4 The Quadruplet
“ลูกๆ ทั้งสี่คนจะมีพัฒนาการทางทักษะที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นแฝดกัน แต่ละคนก็จะมีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องใส่ใจว่าลูกแต่ละคนเริ่มมีพัฒนาการทางทักษะด้านไหนเป็นพิเศษ เพื่อเน้นกิจกรรมตามความเหมาะสม ทำของเล่นกันเองที่บ้านสนุกๆ ซึ่งได้ความรู้พร้อมสร้างเสริมทักษะแตกต่างกัน เช่น เอาเส้นพาสต้ามาร้อยเป็นสร้อย ระหว่างทานข้าวเพื่อสอนเรื่องการแยกแยะรูปร่าง การนับเลข และการพัฒนากล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบง่ายๆ ที่จัดสรรได้จากชีวิตประจำวันค่ะ อีกทั้งต้องใส่ใจและพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพื่อเปิดรับความรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุดค่ะ”
ก็หวังว่าคุณแม่จะได้เคล็ดลับดีๆ เพื่อเสริมสร้างทุกนาทีสู่การเรียนรู้ไม่สิ้นสุดของลูกน้อยนะคะ ^_^